General

สปสช. นำร่องสิทธิบัตรทอง 6 กลุ่มโรค ใช้บริการ ‘ดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน’ มิติใหม่ระบบบริการสุขภาพ

สปสช. เร่งเครื่องให้บริการ “ดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน” สำหรับสิทธิบัตรทอง นำร่อง 6 กลุ่มโรค เพิ่มเตียงว่างรองรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การรักษาพยาบาลกรณีที่เป็นบริการผู้ป่วยใน ปัจจุบัน นอกจากบริการนอนค้างคืน (admit) ที่โรงพยาบาลแล้ว จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและทางการแพทย์ที่รุดหน้า ทำให้เกิดรูปแบบบริการสุขภาพใหม่ คือ การบริการดูแลผู้ป่วยใน ที่บ้าน

สิทธิบัตรทอง

สำหรับบริการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลและรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วย และยังทำให้โรงพยาบาลมีเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หลักการสำคัญของบริการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน ต้องมีมาตรฐานที่เทียบเคียงกับบริการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล (IPD) และมาตรฐานการรักษาของแต่ละวิชาชีพ และยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient centered care) และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย

ขณะเดียวกัน ต้องมีกระบวนการความร่วมมือของญาติหรือผู้ดูแล (care giver) ในการร่วมดูแล และประเมินอาการผู้ป่วย รวมถึงช่วยสื่อสารกับทีมแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพ

การขับเคลื่อนให้เกิดบริการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2565 (30 มี.ค. 65) ได้มีมติมอบ สปสช.วางแนวทางการจ่ายชดเชยเพื่อสนับสนุนการให้บริการดูแลผู้ป่วยนี่บ้านสำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท

ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจ่ายบริการผู้ป่วยในที่บ้าน เป็นการจ่ายชดเชยค่าบริการจากกองทุนผู้ป่วยใน

ดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน

ขณะที่ในระยะเริ่มต้น สปสช. ได้รับความร่วมมือจากกรมการแพทย์ ในการกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน 6 โรค ได้แก่

  • ภาวะกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
  • ปอดอักเสบติดเชื้อ
  • แผลกดทับ
  • ภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • การดูแลภายหลังการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ

สำหรับเบื้องต้น กำหนดให้เป็นการจัดบริการเฉพาะหน่วยบริการภาครัฐ ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบนี้เท่านั้น

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญชาญวีกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติให้ขับเคลื่อนบริการดูแลผู้ป่วยในที่บ้านแล้ว ซึ่ง สปสช.จะเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ไป

บริการการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ในระบบบริการสุขภาพ ในการขยายเตียงผู้ป่วยในไปที่บ้าน ภายใต้คุณภาพการดูแลและรักษาพยาบาลที่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเองรู้สึกอุ่นใจ ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว โดยเชื่อมต่อบริการภายใต้การดูแลของแพทย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo