General

ทำความรู้จัก ‘สารไซลาซีน’ วางยาในน้ำดื่ม นักวิ่งออกกำลังกาย ย่านนนทบุรี

จากข่าวแชร์บนโลกโซเชียล คนที่ไปวิ่งออกกำลังกาย ในสวนสาธารณะย่านนนทบุรี แล้วถูกวางยาในน้ำดื่ม ตรวจพบ สารไซลาซีน มาทำความรู้จักกับสารนี้กัน

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ตรวจพบสารไซลาซีน (Xylazine) ในตัวอย่างน้ำของนักวิ่งที่โดนวางยา

สารไซลาซีน

อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลตรวจร่างกายของผู้เสียหาด้วยว่า พบสารออกฤทธิ์ประเภทใดในร่างกายหรือไม่

ด้านอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงกรณีดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ และถ้าเรื่องที่นักวิ่งคนนั้น ถูกวางยาด้วยการฉีดสาร xylazine เข้าไปในขวดน้ำดื่มที่ยังไม่ได้เปิดตามข่าว เป็นเรื่องจริง ก็น่ากลัวมาก ๆ พร้อมระบุว่า

สารไซลาซีน เป็นสารเคมีอันตรายอีกตัวนึง ที่เคยมีมิจฉาชีพเอามาใช้มอมเหยื่อ ก่อนปลดทรัพย์ เพราะเป็นสารที่ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร จนทำให้ผู้ป่วยหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ปกติจะใช้สำหรับเป็นยาสลบให้สัตว์ แต่ในอดีต ก็เคยมีกรณีมิจฉาชีพลักลอบผสมน้ำ แล้วมอมยาคนไข้ในโรงพยาบาลก่อนปลดทรัพย์ มาแล้ว

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งหนังสือเวียนภายในโรงพยาบาล ระบุว่ามีมิจฉาชีพเข้ามาปลดทรัพย์ผู้ป่วยนอก โดยใช้สารไซลาซีนผสมกับน้ำแล้วนำมาให้ผู้ที่รอรับบริการดื่ม ทางโรงพยาบาลฯ ได้สอบถามทางสถานีตำรวจพญาไท ปรากฏว่า มีลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน

อ.เจษ

ปกติแล้ว ไซลาซีน ขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้สัตว์ เช่น ช้าง วัว ม้า โค สุนัข และแมว มีอาการสงบ ก่อนเคลื่อนย้ายหรือก่อนการผ่าตัด โดยจะออกฤทธิ์ภายใน 3-5 นาที แต่ไม่เคยอนุญาตให้ใช้ในคน

ยาไซลาซีนนี้ ออกฤทธิ์กระตุ้น α2 receptors ทั้งที่ระบบประสาทส่วนกลางและทั่วร่างกาย มีฤทธิ์ทำให้ง่วงไปจนถึงสลบ มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ และยังมีฤทธิ์แก้ปวดอีกด้วย ฤทธิ์ของยาส่วนใหญ่จะเป็นฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

การนำไซลาซีนมาใช้แบบผิดประเภท เช่น ใช้กับคน หรือใช้กับสัตว์ แต่ในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูลทางวิชาการระบุว่า หากนำสารนี้มาใช้กับคน จะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้า เต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ความดันต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง ทั้งยังส่งผลต่อระบบ ทางเดินหายใจ และระบบเลือด

การรักษาทำโดยนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็ว ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้สารดึงความดันให้สูงขึ้น และให้ยาต้านพิษ ทั้งนี้ “ไม่แนะนำ” ให้ดื่มน้ำปริมาณมากๆ เพื่อขับสารออกจากร่างกาย

เจษฎา
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

จากกรณีมิจฉาชีพใน รพ.รามาฯ เมื่อปี 2556 ทำให้ยานี้ถูกยกระดับขึ้นมาจากระดับ ยาอันตราย ที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยมีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย มาเป็น ยาควบคุมพิเศษ ที่จะขายเฉพาะในร้านขายยาที่ขายยารักษาสัตว์เท่านั้น

คนที่จะซื้อได้คือสัตวแพทย์ที่มีใบอนุญาตผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้น 1 เท่านั้น คนธรรมดาทั่วไปซื้อไม่ได้

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ถ้าเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต กลับจะพบว่าน่าจะตกใจมาก ที่มีสารเคมีต้องห้ามหลายอย่าง ถูกนำมาจำหน่ายกันอย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาทำแท้ง ฯลฯ เสี่ยงต่อการที่มิจฉาชีพจะเอาไปใช้ในทางที่ผิด

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคน ที่จะต้องระมัดระวัง ไม่ให้ถูกมิจฉาชีพนำสารเคมีอันตรายมาผสมในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อมอมยา

อย่างน้อยที่ควรจะทำ คือ ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า และไว้วางขวดน้ำหรือภาชนะอาหารทิ้งไว้โดยไม่มีคนเฝ้า รวมถึงสังเกตอาการของตนเองว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ หลังจากที่ได้กินน้ำหรืออาหารเข้าไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo