General

กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง และติดตาม รายงานสถานการณ์ ‘ฝีดาษลิง’ ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด

เฝ้าระวัง และติดตาม รายงานสถานการณ์ ‘ฝีดาษลิง’ ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด เผยพบผู้ป่วย 344 ราย พร้อมเข้มมาตรการคัดกรอง สนามบินสุวรรณภูมิ

วันนี้ (27 พ.ค. 65) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศ ที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้

เฝ้าระวัง

เข้มคัดกรอง สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้เดินทางจากระเทศกลุ่มเสี่ยง ให้สังเกตอาการ 21 วัน

โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 ราย (เพิ่มขึ้น 35 ราย) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 ราย อังกฤษ 77 ราย โปรตุเกส 49 ราย แคนาดา 26 ราย และเยอรมัน 13 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี

สำหรับสถานการณ์ โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ยังไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง และคัดกรองอย่างเข้มงวด ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ

แนะประชาชน ระมัดระวัง ดูแลตัวเอง

โรคฝีดาษวานร เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น การติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจาก การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ  หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ

การติดเชื้อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

เฝ้าระวัง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าาวเพิ่มเติม

Avatar photo