General

ฤดูร้อนมาเยือน กลางก.พ.นี้ กทม.เตรียมรับมือภัยแล้ง

กทม.เตรียมรับมือภัยแล้ง หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดจะเริ่มเข้าฤดูร้อนกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ สั่งป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ น้ำเค็ม ถนนทรุดตัวและเฝ้าระวังเพลิงไหม้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้งที่จะตามมา

รับมือภัยแล้ง

ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักและสำนักงานเขต เตรียมแผนรองรับ และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค

2. ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

3. ด้านปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง

4. ด้านถนนทรุดตัวรวมทั้งคลองสายต่าง ๆ

5. ด้านการสาธารณสุข (โรคระบาด)

6. ด้านเพลิงไหม้อาคารและเพลิงไหม้หญ้า

อัศวิน ขวัญเมือง
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัย การจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ทันท่วงที โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งได้ทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อน การระบายน้ำ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร วมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรใน กทม. ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ

แล้ง

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเล็กน้อย จากการรายงานของสำนักงานเขตมายังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่า มีเกษตรกรในพื้นที่เขตทุ่งครุ จำนวน 369 ครัวเรือน เริ่มประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ ทุกสำนักงานเขตยังเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือ ให้ประชาชน ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์ ประเมินสถานการณ์ สภาพคลองและประตูระบายน้ำ หากพบความผิดปกติเบื้องต้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในพื้นที่เพื่อซ่อมบำรุง และได้รณรงค์ให้ช่วยกันดูแลคลองให้ใสสะอาด

ส่วนปัญหาน้ำเค็ม ทางสำนักการระบายน้ำมีการเฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ การควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo