General

นานาชาติ รวมใจรับมือ ‘ไวรัสโคโรนา’

สธ. จับมือกต. ถกผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และเครือข่ายนานาชาติ  ร่วมรับมือโรคไวรัสโคโรนา 19 ระดับนานาชาติ

39

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมกับนายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ประชุมความร่วมมือ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 19 ที่แพร่ไปในหลายประเทศ

โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจาก 62 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวม 20 หน่วยงานเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

นพ.สมบัติ กล่าวว่า การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 19 ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งไทยได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดในต่างประเทศ

56

อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ยังขาดความชัดเจนในหลายด้าน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรค ดังนั้น การบรรเทาผลกระทบของการระบาด จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ประชาชน เอกชน รวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งใน และระหว่างประเทศ เพื่อรับมือ และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขนี้อย่างใกล้ชิด

โดยสถานการณ์ของโรคไวรัสโคโรนา 19 ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 11 ราย รักษาในโรงพยาบาล 22 ราย และมีผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังโรค และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ผลทางห้องปฏิบัติการพบว่า ผู้ป่วยตามนิยามฯ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรักษาจนหายและอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้ระบุถึงกลไกป้องกัน และควบคุมการระบาดของประเทศไทย ครอบคลุมทั่วประเทศว่า มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน

และบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ กระทรวง และจังหวัด มีเป้าหมาย ดังนี้

(1) ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ และการตรวจคัดกรองผู้เดินทางในทุกช่องทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังโรคในโรงพยาบาลทุกแห่งและในชุมชน

(2) ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลในห้องแยกโรค

(3) ติดตามค้นหา และสังเกตอาการผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน

(4) สนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

(5) สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์

(6) เพิ่มการศึกษา วิจัยพัฒนา

(7) พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

(8) สื่อสารความเสี่ยงแก่บุคคล หน่วยงาน หรือพื้นที่ที่เสี่ยง

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นจะสามารถทำให้ประเทศไทยลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคได้มากที่สุด

ด้านสัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง 3 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เช่น สถานการณ์ ความรู้เรื่องโรค วิธีการป้องกัน สื่อมัลติมีเดีย  รวมถึงรายงานสถานการณ์ หรือข่าว เพื่อสื่อมวลชนที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอต่อประชาชน

46

สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอมาตรการควบคุมป้องกันโรคนี้ ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ และพัฒนากลไกประสานความร่วมมือ ให้สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 19 ให้เป็นผลสำเร็จ และร่วมกันส่งเสริม ให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงลดผล กระทบต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจให้มากที่สุด

Avatar photo