General

‘พม.POLL’ พบคนไทย 54.9% นึกถึงการเอื้อเฟื้อ-เสียสละเพื่อสังคม

“พม. POLL” หัวข้อ “สังคมไทย ร่วมใจ สร้างจิตสาธารณะ” พบประชาชน 54.9% นึกถึงการเสียสสละเพื่อสังคม  และ 96.3 % เคยเข้าร่วมกิจกรรม “จิตสาธารณะ”  ส่วนใหญ่สนใจทำกิจกรรมในกลุ่มเด็กเยาวชน 

S 14843933
ปรเมธี วิมลศิริ

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นเรื่อง “สังคมไทย ร่วมใจ สร้างจิตสาธารณะ” ภายใต้โครงการบูรณาการโครงการด้านสังคมในระดับพื้นที่ กิจกรรมวัดอุณหภูมิทางสังคม “ พม. POLL”

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวง พม. โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1 – 12 ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 24 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) รวมขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1) เมื่อถามถึงการให้คะแนนความสำคัญในการทำ “จิตสาธารณะ” พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญในระดับมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 7.9 คะแนน

2) เมื่อถามถึง “จิตสาธารณะ” นึกถึงเรื่องใดมากที่สุด พบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่ง หรือ 54.9 % นึกถึงเรื่องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทน รองลงมา 19.5 % นึกถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม

3) เมื่อถามถึงสิ่งที่เคยทำในการแสดงถึงความเป็น “จิตสาธารณะ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 72.5% เคยเข้าร่วมกิจกรรม เช่น เก็บขยะ ปลูกป่า พัฒนา ทำความสะอาดอาคารสถานที่ต่างๆ  รองลงมา 54.9 % เคยทำในชีวิตประจำวัน เช่น ลุกให้เด็ก และคนชรานั่ง จูงคนชราข้ามถนน)

4) เมื่อถามถึงความรู้สึกหลังทำ “จิตสาธารณะ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 84.2 % มีความภาคภูมิใจ มีความสุข รู้สึกตัวเอง มีคุณค่า รองลงมา  44 % รู้สึกได้บุญ และ 22.7 % ต้องการชักชวนผู้อื่นมาทำด้วย

5) เมื่อถามถึงการเข้าร่วมกิจกรรม “จิตสาธารณะ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 96.3 % เคยเข้าร่วมกิจกรรม “จิตสาธารณะ” โดยให้เหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้ 64.2% ให้เหตุผลว่า เป็นกิจกรรมของหน่วยงาน และชุมชน รองลงมา 59% ให้เหตุผลว่า เป็นความสมัครใจ

ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรม มีเพียง 3.7 % โดยให้เหตุผล ดังนี้ 71.9 % ให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา รองลงมา 21.9 % ให้เหตุผลว่า ไม่มีเพื่อนไป

6) เมื่อถามถึงรูปแบบกิจกรรม “จิตสาธารณะ” ที่ประชาชนสนใจเข้าร่วมมากที่สุด พบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่ง หรือ 64.3% สนใจลงแรง เพื่อร่วมกิจกรรมสาธารณะ รองลงมา 25.3% สนใจทำกิจกรรมเกี่ยวกับการบริจาคเงิน และสิ่งของ

S 3539161

7) เมื่อถามถึงกลุ่มเป้าหมายที่ประชาชนต้องการทำกิจกรรม “จิตสาธารณะ” ด้วยมากที่สุด พบว่า ประชาชน 37.2 % สนใจทำกิจกรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน รองลงมา 30.4% สนใจทำกิจกรรมในกลุ่มผู้สูงอายุ

8) เมื่อถามถึงแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนมี “จิตสาธารณะ” พบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่ง 59.7 % ระบุว่า ควรประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับจิตสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ รองลงมา 53.2%  ระบุว่า รณรงค์สร้างความตระหนัก ในการปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

9) เมื่อถามถึงหน่วยงาน องค์กร สถาบันใด ควรมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจ เพื่อปลุกจิตสำนึกสาธารณะ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 73.9 % ระบุว่า ครอบครัว รองลงมา 58.5% ระบุว่า สถานศึกษา

S 14843944

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม กระทรวงพม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จากประเทศไทย และอาเซียนกว่า 100 หน่วยงาน จัดงาน ข 2019 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ สังคมไทยยั่งยืน – Partnership for Sustainability” เพื่อแสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาล และงานมหกรรมด้านสังคมของประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5–7 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00-20.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

โดยมีการนำเสนองานวิชาการทั้งระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียนด้วย อาทิ การเสวนาหัวข้อ “ยกระดับ CSR สู่พลังจิตสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” และหัวข้อ “พลังผู้สูงอายุ สร้างสรรค์สังคมไทย” รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่อง “ASIAN PARTNERSHIP FOR URBAN POOR AND INCLUSIVE CITY DEVELOPMENT” เป็นต้น

 

Avatar photo