General

รณรงค์ใหญ่ ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ ย้ำเสี่ยงมะเร็งสารพัด อันตรายทั้งคนสูบ-คนใกล้ชิด

การสูบบุหรี่เป็นต้นตอของมะเร็งอย่างน้อย 8 ชนิด เหตุขี้บุหรี่ และควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 70 ชนิด อันตรายทั้งคนสูบ และผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และ เนื้องอกในสมองด้วย

งดสูบบุหรี่โลก 190531 0022

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” อย่างไรก็ตามแม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงโทษ และพิษภัยของบุหรี่ มาเป็นเวลานานหลายปี แต่ปัจจุบันบุหรี่ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมของหลายประเทศทั่วโลก

สถิติขององค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 890,000 คน มาจากการสัมผัสควันบุหรี่ที่สูบจากคนรอบข้าง ที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง โดยส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยบุหรี่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศ  โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่มีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทย รายงานว่าแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 15,288 คน เป็นเพศชาย 9,779 คน และเพศหญิง 5,509 คน

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า บุหรี่และควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด จำนวนนี้เป็นสารก่อมะเร็งประมาณ 70 ชนิด บุหรี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่มะเร็งปอดเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นรวมแล้วอย่างน้อย 8 ชนิด อาทิ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต  มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย

นอกจากบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่สูบแล้ว จากการศึกษาที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เข้าสู่ร่างกาย จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวและยังเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองอีกด้วย

ฺ สี่เหลี่ยม BANNER อนามัย NEWS ล่าสุด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำอีกพิษภัยของการสูบบุหรี่ต่อโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งพบอัตรารอดชีวิตใน 5 ปีของประชากรทั่วโลกต่ำกว่า 50% และผู้ที่สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากมากถึง 10 เท่า

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า จากสถิติปี 2558 ประเทศไทย พบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเป็นอันดับ 6 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด เป็นผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก คือ “การสูบบุหรี่”

โดยพบว่า 8 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งช่องปากเคยสูบบุหรี่มาก่อน เพราะควัน และความร้อนจากบุหรี่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดานปาก และลำคอ เมื่อถูกระคายเคืองเป็นประจำ เนื้อเยื่อจะมีการอักเสบ หนาตัว เสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก

และหากสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้มากถึง 10 เท่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ

เสริมด้วยข้อมูลจากทต.พญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข ย้ำถึงผลกระทบอื่นๆจากการสูบบุหรี่ ว่าจะทำให้เกิดคราบสีดำ หรือน้ำตาลติดแน่นบนผิวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก ความสามารถในการรับรสลดลง การหลั่งน้ำลายลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดฟันผุ

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม จากการมีคราบเหนียวของน้ำมันดินในบุหรี่ติดแน่นบนตัวฟัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขัดออกนานมาก ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป

โดยผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟัน มากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 2 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก หากไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกเบ้าฟันได้ง่าย

จากพิษภัยของบุหรี่ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งานในการรณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อลดการสูบบุหรี่ โดยใช้ทั้งข้อกฎหมาย และการมอบรางวัล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับหน่วยงานและองค์กรที่ทำการรณรงค์ ในส่วนของการตรวจจับนั้น ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจจับบุหรี่ไฟฟ้า ที่ยังคงฮิตในหมู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่

messageImage 1559032673511

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นผลิตภัณฑ์ห้ามส่งออกหรือนำเข้ามาในประเทศตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามขายหรือให้บริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ปัจจุบันยังพบการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากมีรูปลักษณ์และองค์ประกอบที่ดึงดูดใจให้วัยรุ่นหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งอาจเกิดความเข้าใจผิด  ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคติน  แต่แท้จริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ที่ทำให้ติด และเป็นสารก่อมะเร็ง และยังมีสารที่ทำให้เกิดไอน้ำ และอาจมีโลหะหนัก และสารพิษอื่นๆ อีกได้

โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้รับตัวอย่างของกลางที่เป็น“น้ำยา” สำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน  51 ตัวอย่าง จากสถานีตำรวจในจังหวัดชลบุรี ซึ่งส่งมาตรวจพิสูจน์หาสารเสพติด พบสารนิโคตินในทุกตัวอย่าง รวมทั้งตัวอย่างที่ข้างขวดระบุว่าปราศจากสารนิโคตินด้วย และเนื่องจากในการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับ ผู้สูบจึงอาจเสี่ยงได้รับสารนิโคติน มากเกินขนาดตามปริมาณสารนิโคตินของผู้ผลิตแต่ละราย

“นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นของเยาวชนที่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งอาจเริ่มทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนทำให้ติด ซึ่งอาจนำไปสู่การสูบบุหรี่หรือเสพสารเสพติดชนิดอื่นๆ ในอนาคตได้ ” นพ.โอภาส กล่าว

งดสูบบุหรี่โลก 190531 0038
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

ในส่วนของการมอบรางวัลนั้น วันนี้( 31 พ.ค.)  ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลให้กับบุคคลและหน่วยงานที่ขับเคลื่อน และสนับสนุนการควบคุมบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็ง  รวมถึง คิดค้นจัดกระบวนการช่วยเลิกเสพยาสูบ ในรูปแบบทั้งบริการคลินิกฝังเข็มเลิกบุหรี่ การสร้างนวัตกรรมสเปรย์นมลูกอม และชาที่ผลิตจากหญ้าดอกข้าวเพื่อช่วยเลิกบุหรี่และยังรวมถึงผลักดันให้สนามบิน ที่ทำงาน ที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว เรือนจำ และสถานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันปลอดบุหรี่ทั้งจังหวัด

โดนปีนี้องค์การอนามัยโลก ได้มอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2019 แก่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน การควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพทั้งยังเป็นนักรณรงค์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่

สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่บริการช่วยเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสังกัดกรุงเทพมหานครใกล้บ้าน และยังสามารถปรึกษาได้ที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ และสายด่วนเลิกบุหรี่ (Quitline 1600) หรือ แอปพลิเคชัน “ไทยไร้ควัน”

งดสูบบุหรี่โลก 190531 0001

 

Avatar photo