General

ศาลแพ่งสั่ง ‘ส.ต.ต.’ ซิ่งบิ๊กไบก์ชน ‘หมอกระต่าย’ ชดใช้พ่อแม่ 27.3 ล้าน

ศาลแพ่งสั่ง “ส.ต.ต.” ซิ่งบิ๊กไบก์ชน “หมอกระต่าย” ชดใช้ค่าเสียหายพ่อแม่หมอ 27.3 ล้านบาท  ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติรอด

ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำ ที่ นายแพทย์อนิรุทธ์ และ นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล เป็นบิดามารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล (หรือหมอกระต่าย) ผู้ตาย  เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ส.ต.ต.นรวิชญ์ ตำรวจควบคุมฝูงชน จำเลย 1-2 ให้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนกว่า 72 ล้านบาท

หมอกระต่าย

โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกัน หรือแทนกันชดใช้ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ เป็นเงินจำนวน 539,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้น เงินจำนวน 537,505 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 72,266,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 72,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ไม่ได้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เหตุคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 โดยลำพัง จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการเฉพาะตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ในกรณีทำให้เขาถึงตาย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าว

 

ศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายตามจารีตประเพณีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนฐานานุรูปของผู้ตาย และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดา เมื่อพิจารณาตารางสรุปยอดค่าใช้จ่าย รายละเอียดค่าใช้จ่าย บิลเงินสด หลักฐานการชำระเงิน และภาพถ่ายงานศพซึ่งมีแขกร่วมงานจำนวนมาก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้บริหารระดับประเทศ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 331,230 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ

ส่วนค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย เงินบริจาคมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ค่าไอแพด กระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้าของผู้ตาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามคำขอโจทก์ทั้งสอง จึงไม่กำหนดให้ ส่วนค่าเรือลอยอังคาร โจทก์ทั้งสองไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นเรือของตำรวจน้ำไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงไม่กำหนดให้

ภาพถ่ายหน้าจอ 2567 03 26 เวลา 16.56.21

สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้าย การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จะต้องพิจารณาตามฐานานุรูปของผู้ตายและโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ตลอดจนรายได้ของผู้ตายและระยะเวลาในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูหากผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 64 ปีเท่ากัน มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ผู้ตายอายุ 33 ปี ประกอบวิชาชีพจักษุแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทาง 2 สาขา อนุสาขาโรคจอตาและวุ้นตา และอนุสาขาโรคภูมิคุ้มกันและการอักเสบ ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนายแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 21,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข (พ.ต.ส.) เดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 31,000 บาท หากอยู่เวรนอกเวลาจะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,200 บาท

หากผู้ตายได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้มีคุณวุฒิ พบ.วว. สาขาจักษุวิทยา และอนุสาขาจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ จะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ (สบ.1)  ชั้นยศว่าที่ร้อยตำรวจตรี และจะได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้น  ผู้ตายทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1,800,000 บาท ถึง 2,400,000 บาท เมื่อมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเป็น 3 ถึง 5 เท่า ซึ่งสอดรับกับคำเบิกความของนายแพทย์อดิศัย วราดิศัย จักษุแพทย์ด้านจอประสาทตาว่า หากแพทย์มีอายุการทำงานมากขึ้น มีชื่อเสียง ทำงานหลายแห่ง จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 300,000 ถึง 500,000 บาทหรือมากกว่านั้น

4 49

จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานหักล้างเป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามประสบการณ์และอายุการทำงาน เมื่อคำนึงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ แม้จะมีรายได้จากเงินเดือน แต่อยู่ในวัยชรา มีปัญหาสุขภาพต้องไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวต่อเดือนจำนวนค่อนข้างสูง เห็นสมควรกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน  331,230 บาท 13,500,000 บาท และ 13,500,000 บาท ตามลำดับ นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โดยศาลพิพากษาให้ จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 331,230 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง ชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo