General

กทม. เร่งสางปัญหาผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท ใช้ใบส่งตัวเดิมได้จนหมดอายุ

กทม. จับมือ สปสช. เร่งสางปัญหาส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท เผยวิธีแก้ปัญหาระยะสั้น ให้ใช้ใบส่งตัวเดิมจนหมดอายุ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงประเด็นการจัดการระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินมีผลตั้งแต่วันที่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 หลังปรับการจ่ายเงินทำให้มีผลต่อการรับบริการ กรณีที่การรักษาของผู้ป่วยเกินศักยภาพคลินิก คลินิกจะออกใบส่งต่อให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ประชาชน คลินิก และหน่วยบริการ ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

บัตรทอง 30 บาท

นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่างกทม. กับ สปสช. โดยภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการระบบบริการสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา อาจจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเรื่องใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ และมีประเด็นสงสัย เช่น โรงพยาบาลอาจต้องการให้ทำใบส่งตัวใหม่ หรือประชาชนอาจยังไม่เข้าใจจึงมาขอทำใบส่งตัวใหม่จากทางศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของกทม.ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ทางสปสช. ให้แนวทางดําเนินการว่า ใบส่งตัวที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้วถือว่าให้ใช้ได้ตามปกติจนกระทั่งหมดอายุ ซึ่งกทม.ก็พร้อมที่จะดําเนินการตามแนวทาง ส่วนคลินิกหรือโรงพยาบาลเองก็คงต้องเป็นแนวทางปฏิบัติที่สปสช.จะไปเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยในอนาคตเรื่องระบบส่งตัวจะมีจากคลินิกส่งตัวให้ศบส. หรือศบส.ส่งตัวให้โรงพยาบาล ก็จะเป็นระบบที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สปสช.กําหนด

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่เรามีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิมที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้ว อาจจะเกิดความสับสนเข้าใจไม่ตรงกัน ต้องมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว

ในส่วนของสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้สั่งการว่าให้ดําเนินการจนกว่าใบส่งตัวจะหมดอายุ เชื่อว่าตรงนี้จะแก้ปัญหาไปได้เยอะ ส่วนสปสช.เองก็รับปากว่า จะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการที่รับส่งต่อ ซึ่งบางครั้งประชาชนอาจจะกังวลว่าถ้าไม่มีใบส่งต่อแล้วใครจะมาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทางเราจะรับนโยบายผู้ว่าฯ ไปซักซ้อมตรงนี้กับหน่วยอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกทม. รวมถึงนโยบายในอนาคตที่ใบส่งตัวควรใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน

22 6

ทั้งนี้ สำหรับกติกาการเงิน มีความชัดเจนแล้วว่าเงินส่วนแรกที่จะจ่าย จะเปลี่ยนเป็นจ่ายในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่าย เพราะฉะนั้นเครือข่ายจะมีทั้ง ศบส.และคลินิก และมีการส่งต่อไปก็จะตามจ่ายในส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด กําหนดครั้งละไม่เกิน 800 บาท

ส่วนกรณีถ้าประชาชนไม่ได้มีใบส่งตัวไป ในส่วนของโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ จะมีกองทุนอีกกองหนึ่งตามไปจ่าย ซึ่งได้มีการซักซ้อมกับหน่วยบริการให้ความมั่นใจว่าในแง่กลไกการเงินมีการดูในทุกระดับ แต่ต้องเรียนว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปรับบริการยังโรงพยาบาลใหญ่โดยที่ไม่มีระบบอะไร ยังคงย้ำตรงนี้ เพราะเป็นไปตามกฎหมายพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแนวทางหมายความว่าจากนี้เป็นต้นไปต้องเริ่มจากหน่วยปฐมภูมิ คือคลินิกหรือว่าศบส.ที่ตนเองลงทะเบียนอยู่ จากนั้นการส่งต่อก็จะเป็นขั้นตอนไป หากคลินิกเห็นว่ารับมือไม่ไหวก็ส่งไปยังศบส. หรือหน่วยระดับสอง หากไม่ไหวก็ส่งต่อไปหน่วยระดับสาม คือโรงพยาบาล เป็นขั้นตอนที่มีการคัดกรองเพื่อลดภาระที่จะไปสู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปโรงพยาบาลหมด ทําให้โรงพยาบาลคิวยาวและแออัด

ถ้าเราสามารถทําให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเข้มแข็ง ศบส.เข้มแข็ง จะมีด่านที่ปะทะเป็นด่าน ๆ ไป เป็นขั้นตอนตามหลักสากล แต่สุดท้ายแล้วทุกหน่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเข้มแข็ง หน้าที่ของศบส.เองต้องพยายามช่วยดูแลคลินิกให้เข้มแข็งด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo