General

เห็นผล!! กทม. เปิดสถิติผู้จอด-ขับขี่บนทางเท้าลดลง เล็งติดกล้อง AI ครบ 100 จุด

กทม. เผยหลังติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า พบตัวเลขผู้ทำผิดลดลง ตั้งเป้าติดกล้องครบ 100 จุด ในปีนี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาการขับขี่บนทางเท้าของกรุงเทพมหานครเป็นนโยบายที่ กทม. ให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้ โดยต้องเข้มงวด เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย แต่สุดท้ายแล้ว หลายเรื่องก็เป็นเรื่องของจิตสํานึกจากผู้ขับขี่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถจะไปเฝ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กล้อง AI

ฉะนั้น จะต้องสร้างจิตสํานึกให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใส่หมวกกันน็อก การปฏิบัติตามกฎจราจร การไม่ขับขี่บนทางเท้า การหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย และต้องดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงทางกายภาพ และการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ทั้งนี้ หลังจากมีการนำเทคโนโลยีกล้อง AI เข้ามาใช้ติดตามการกระทำผิดเรื่องการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า ปัจจุบันกล้อง AI มีจำนวน 16 จุด โดยสถิติจากกล้อง AI พบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจำนวนลดลง ดังนี้

1. ประเภทไรเดอร์ 13 บริษัท : เดือนพฤศจิกายน 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 1,525 ราย เดือนธันวาคม 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 1,149 ราย และเดือนมกราคม 2567 พบผู้ฝ่าฝืน 649 ราย

ทางเท้า

2. ประเภทวินจักรยานยนต์รับจ้าง : เดือนพฤศจิกายน 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 823 ราย เดือนธันวาคม 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 660 ราย และเดือนมกราคม 2567 พบผู้ฝ่าฝืน 308 ราย

3. ประเภทประชาชนทั่วไป : เดือนพฤศจิกายน 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 6,486 ราย เดือนธันวาคม 2566 พบผู้ฝ่าฝืน 5,326 ราย และเดือนมกราคม 2567 พบผู้ฝ่าฝืน 3,329 ราย

นอกจากนี้ กทม. ยังจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจาก 50 สำนักงานเขต ลงพื้นที่กวดขันการจอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565-มกราคม 2567 พบผู้กระทำผิด 13,644 ราย ดำเนินการตักเตือน 1,507 ราย เปรียบเทียบปรับ 12,137 ราย

รถจอดทางเท้า

นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการขับขี่บนทางเท้าของรถจักรยานยนต์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้ทางเท้า กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และดำเนินการอย่างเข้มข้น

จากการลงพื้นที่พบเหตุผลในการฝ่าฝืนกระทำความผิด ได้แก่ ที่กลับรถมีระยะทางไกล การจราจรติดขัด ถนนมีความแคบ หรือเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนในบริเวณนั้น รวมถึงเป็นความเคยชินของผู้กระทำความผิดเอง

สำหรับการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้ลงนาม MOU ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ 13 บริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า (ไรเดอร์) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงานรับ-ส่งอาหารและสินค้านำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาซาด้า จำกัด บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ในส่วนของผลการแก้ไขปัญหาการจอดหรือขับขี่บนทางเท้าจาก Traffy Fondue มีดังนี้ จำนวนเรื่องทั้งหมดที่ได้รับ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2566 ถึงปัจจุบัน รวม 414 เรื่อง รอรับเรื่อง 15 เรื่อง เสร็จสิ้น 399 เรื่อง

รอ้งเรียน

เล็งนำ Body-Worn Camera ติดตัวเจ้าหน้าที่เก็บหลักฐาน

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ขณะลงพื้นที่ ได้พบปัญหาบางประการ อาทิ มีการฝ่าฝืนในจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยืนกำกับ ผู้ขับขี่มีเจตนาปิดบังป้ายทะเบียน หรือการข่มขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่

1. ติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับรถวิ่งบนทางเท้าให้ครบ 100 จุด ภายในปี 2567

2. มอบนโยบายสั่งการ 50 เขต กวดขันรถที่จอดหรือขับขี่บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง

3. ประสานตำรวจในพื้นที่ในการช่วยดำเนินการกวดขันรถที่จอดหรือขับขี่บนทางเท้าอีกทางหนึ่ง และเร่งดำเนินการติดตามผู้ที่ขัดขวาง ต่อสู้ หรือข่มขู่ เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่

เหตุผลที่กรุงเทพมหานครจะนำกล้อง AI เข้ามาใช้ให้มากขึ้น ก็เพื่อลดปัญหาในส่วนของการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำความผิด และเป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า อนาคตกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะนำ Body-Worn Camera หรือกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เทศกิจเพื่อบันทึกภาพและเสียงขณะที่เจ้าหน้าที่ในขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะได้เพิ่มความโปร่งใส สามารถบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันข้อครหาเรื่องการไปรีดไถรับเงิน รวมทั้งสามารถเป็นหลักฐานกรณีเจ้าหน้าที่โดนข่มขู่

ทั้งนี้เพราะเวลาเกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่คงไม่สามารถนำโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายได้ ซึ่ง Body-Worn Camera จะเป็นสิ่งที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

ชัชชาติ 1
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ออกคำสั่งปรับเป็นพินัยแล้วเกือบ 300 ราย

ด้านนายปฏิญญา แสงนิล ผู้แทนสำนักเทศกิจ กล่าวเสริมในเรื่องกระบวนการปรับตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจแล้วพบการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีการใช้วิธีการออกหนังสือคำสั่งปรับเป็นพินัยและส่งคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดทราบทางไปรษณีย์ เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหานั้นตามสมควร

ผู้ที่กระทำความผิดสามารถที่จะชําระเงินได้ในสองช่องทางคือ Mobile Banking และที่สำนักงานเขต ส่วนในกรณีมีการปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

ที่ผ่านมา มีการชําระค่าปรับเป็นพินัย ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. มียอดที่ออกคำาสั่งปรับเป็นพินัยไปแล้ว 281 ราย เป็นเงินที่กําลังรอการชำระอยู่ประมาณกว่า 2 แสนบาท ส่วนก่อนมีการนำการปรับเป็นพินัยมาใช้ มียอดการจับปรับผู้กระทำความผิด ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึง 23 ตุลาคม 2566 รวมกว่า 9 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo