General

WHO เผย ‘PM2.5’ เป็นส่วนหนึ่งก่อให้เกิดโรค NCDs และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละ 7 ล้านคน

WHO เผย “PM2.5” เป็นส่วนหนึ่งก่อให้เกิดโรค NCDs ที่มีอัตราเสียชีวิตสูง และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละ 7 ล้านคน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า ผลกระทบจากมลพิษและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่อการเสียชีวิตของมนุษย์นั้นสูงมาก

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) และแหล่งข้อมูลอื่นๆ พบว่าโรค NCDs ได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 41 ล้านคนต่อปี หรือ 74% ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก มากกว่าการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อหลายเท่าตัว เช่น มลพิษทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งก่อให้เกิดโรค NCDs

PM2.5

PM2.5 ก่อให้เกิดโรค NCDs และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละ 7 ล้านคน

WHO รายงานว่าฝุ่น PM2.5 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณถึง 7 ล้านคนต่อปีทั่วโลก ในขณะที่ปี พ.ศ. 2565 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ (HIV/AIDS) ทั่วโลกเพียงประมาณ 630,000 คน

กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วนลงพุง, โรคเบาหวาน, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็ง ฯลฯ

PM2.5

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตลดเสี่ยงโรค

ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อแต่จากกลุ่มโรค NCDs การป้องกันและรักษาด้วยยาจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs ได้เพียง 20-30% แต่จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น จากการสำรวจกลุ่มประชากรไทย มากกว่า 58,593 คน โดย ศ. นพ. วิชัย เอกพลากรและทีมวิจัย รพ. รามาธิบดี พบว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจะสามารถลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs ได้ถึง 70-90% (Essential Healthy Lifestyle 10)  ด้วยการ

  1. คุมน้ำหนัก
  2. คุมความดัน
  3. คุมไขมัน
  4. คุมน้ำตาล
  5. คุมความเครียด
  6. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  7. เลิกบุหรี่ และสารเสพติด
  8. เลิกแอลกอฮอล์
  9. นอนพอเพียง
  10. มีสัมพันธ์อันดีกับทุกๆ คนรอบข้าง

ในขณะที่จากการสำรวจทหารผ่านศึกในสหรัฐฯ  720,000 นาย พบว่าการปรับวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ 10 ประการตั้งแต่วัยกลางคน (40ปี) สามารถยืดอายุขัยเพิ่มอีก 24 ปีในชาย และ 21ปีในหญิง

PM2.5

กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม ประมวลผลคะแนนสุขภาพ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ร่วมมือกับวิสาหกิจเพื่อสังคม “กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม” โดยได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานของภาครัฐ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์” หรือ TCELS ได้ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์และอีพีจีโนมิกส์สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์และติดตามผลผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจให้กับประชาชนทุกเศรษฐานะในการปรับวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบจากโรค NCDs

“กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม” จะนำผลการตรวจยีนและกลุ่มสารเคมีที่เคลือบบนจีโนมที่ควบคุมการแสดงออกของยีน รวมถึงชนิดและจำนวนของจุลชีพในลำไส้มาประมวลผลร่วมกับผลการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ชนิดของอาหารและยาที่รับประทาน การออกกำลังกาย การนอน ความเครียด ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5  ที่ผู้นั้นได้รับมาอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ มาประมวลผลเป็นคะแนนสุขภาพ (Health score) เพื่อเป็นดรรชนีชี้วัดว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพของบุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จหรือไม่

และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน (เวชศาสตร์วิถีชีวิต) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ในระดับรากหญ้าศูนย์จีโนมฯ ในปี 2567 ได้ประสานกับภาคเอกชนในการนำจีโนมิกส์วิถีชีวิตลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

PM2.5

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโต

นอกจากนี้ศูนย์จีโนมฯ ยังมีความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อผลักดัน “จีโนมเพื่อสุขภาพ” หรือ “GenoWell” ศาสตร์จีโนมิกส์ที่เกิดใหม่ ที่รวมองค์ความรู้ด้านจีโนม (genomics) และสุขภาพที่ดี (wellness) ให้คำแนะนำด้านสุขภาพและปรับพฤติกรรมตามข้อมูลจีโนมของแต่ละบุคคลสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ

417703043 1102531107752801 160019721245968288 n

ข้อมูลจาก GWI (Global Wellness Institute) และ IMF ระหว่างปี 2563-2568 คาดการณ์ว่า อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะอยู่ที่ 20.9% แซงหน้าภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ (Wellness Economy) ซึ่งรวมถึงการดูแลส่วนบุคคลและความงาม, สปา, อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ ฯลฯ

โดยคาดว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 9.9% ต่อปี สูงกว่าประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo