General

ขัดข้องทางเทคนิค! เลื่อนส่ง ‘THEOS-2’ ขึ้นสู่อวกาศ รอ ‘GISTDA’ แจ้งกำหนดการใหม่

พบปัญหาทางเทคนิค ต้องเลื่อนส่งดาวเทียม ‘THEOS-2’ ขึ้นสู่อวกาศ รอแจ้งกำหนดการใหม่ 

วันนี้ (7 ต.ค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. หรือ GISTDA ถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร ณ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ โดยเริ่มถ่ายทอดตั้งแต่เวลาประมาณ 07.30 น. จากสถานีควบคุม และรับสัญญาณดาวเทียม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

THEOS-2

การส่งดาวเทียม THEOS-2 ใช้จรวด VEGA Flight VV23 ของ Arianespace บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ให้บริการตั้งแต่

  1. วงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit) สำหรับดาวเทียมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นความสูงที่ดาวเทียม THEOS-2 จะขึ้นไปอยู่
  2. วงโคจรระดับปานกลาง (Medium Earth orbit) สำหรับดาวเทียมนำทาง
  3. วงโคจรค้างฟ้าหรือวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit) สำหรับดาวเทียมสื่อสาร

จรวด VEGA สามารถบรรทุก Payload ได้ตั้งแต่น้ำหนัก 300-2,500 กิโลกรัม มีส่วนประกอบ 4 ส่วน คือ

  • Lower Stage เชื้อเพลิงแข็ง จุดแล้วต้องเผาไหม้ให้หมด แล้วเปลือก (Shell) แต่ละท่อนจะตกลงสู่พื้นโลก
  • Upper Stage เชื้อเพลิงเหลว จุดได้หลายครั้ง มีระบบสื่อสาร On Board สามารถ Payload ดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรที่เหมาะสมได้
  • Fairing ส่วนนี้จะประกบกับดาวเทียม กระทั่วเมื่อถึงวงโคจรที่เหมาะสมก็จะหลุดออกและตกลงสู่พื้นโลก
  • Payload หรือดาวเทียม ที่สามารถส่งได้ทั้งดวงเดียวและหลายดวงในการขึ้นสู่อวกาศ 1 ครั้ง

สถานที่ส่งนั้นคือท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Centre) ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรประมาณ 5 องศา เหตุที่ต้องเน้นความใกล้เส้นศูนย์สูตร เพราะจะช่วยให้การส่งจรวดใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ซึ่งในทางเทคนิดมีศัพท์ว่า Slingshot Effect อีกทั้งที่ตั้งยังอยู่ใกล้ทะเล เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องเปลือกท่อนเชื้อเพลิงที่ใช้หมดในการปล่อยจรวดร่วงหล่นสู่พื้นดิน

THEOS-2

ส่วนที่ต้องเลือกส่งในเวลากลางคืนตามเวลาของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา คือประมาณ 22.00 น. หรือเวลาไทยคือประมาณ 08.00 น. เพราะเป็นการส่งดาวเทียมขึ้นทางทิศเหนือ เพื่อให้ชิ้นส่วนจรวดตกสู่ทะเล อีกทั้งวงโคจรในการส่งจะต้องล้อกับวงโคจรของดาวเทียม ซึ่ง THEOS-2 มีวงโคจรขาขึ้นในตอนกลางคืน และขาลงในตอนกลางวัน

ขณะที่ดาวเทียม THEOS ที่เคยส่งไปก่อนหน้านี้ในปี 2551 ส่งในตอนกลางวัน ที่ฐานส่งจรวดในเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย ตามเวลารัสเซียคือประมาณ 11.00 น. หรือเวลาไทยประมาณ 13.00 น. แต่ก็ส่งขึ้นทางทิศเหนือเช่นกัน

จากนั้นในเวลาประมาณ 08.20 น. ภาพได้ตัดไปยังท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการปล่อยจรวด VEGA Flight VV23 ขึ้นสู่อวกาศ โดยนอกจาก THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยแล้ว ยังจะมีดาวเทียม FORMOSAT-7R ของไต้หวัน และดาวเทียมอีก 10 ดวง ของ ESA หรือองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป (EU) ร่วมเดินทางไปด้วย

เวลา 08.37 น. ตามเวลาประเทศไทย ระบบแจ้งเตือนพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่าง ทาง Arianespace รวมถึง Airbus ที่เป็นผู้พัฒนาดาวเทียม THEOS-2 ร่วมกับ GISTDA จึงต้องขอเวลาตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดกับทั้งจรวด และดาวเทียม

จากนั้นเวลา 08.42 น. ได้รับการยืนยันว่ายังไม่สามารถส่งดาวเทียมได้ในขณะนี้ โดยบรรยากาศในห้องควบคุมของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามารอชมการปล่อยจรวดก็รู้สึกเสียดาย ส่วนจะปล่อยได้เมื่อใดนั้นต้องรอคำยืนยันกันอีกครั้ง

THEOS-2

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo