General

อย่าหาทำ!! แอบขโมยใช้ไฟฟ้าบ้านคนอื่น โดนปรับเงินอาน แถมติดคุก

ค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูด ระวังไม่ใช่เพราะค่าไฟแพง แต่อาจโดนเพื่อนบ้านขโมยใช้ไฟฟ้า เปิดบทลงโทษ เจอทั้งเสียค่าปรับ ถึงจำคุก

อีกประเด็นที่โลกโซเชียลให้ความสนใจ เมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์แอคเคาท์หนึ่งได้ออกมาทวีตเรื่องเล่าเป็นอุทาหรณ์ เอะใจ! ทำไมค่าไฟแพง ตรวจมิเตอร์ดู ที่แท้ข้างบ้านลักพ่วงไฟไปใช้

ขโมยใช้ไฟฟ้า

ว่าแล้วทำไมค่าไฟ 4 เดือนที่ผ่านมา จ่ายแพงจัง…เจอคุณพี่ข้างบ้านลักต่อสายตรงเข้าบ้านมันเอง เลวจัด

เจ้าของโพสต์ บอกด้วยว่า เพื่อนบ้าน ยอมรับหน้าตาเฉย แต่ไม่ยอมจ่ายชดใช้ จึงต้องไปแจ้งความ ข้อหาลักทรัพย์ แต่เพื่อนบ้านไม่ยอมมาตามนัดเพื่อไกล่เกลี่ย

บรรดาชาวโซเชียล เมื่อเห็นโพสต์นี้ หลายคนเข้ามาคอมเมนต์ เช่น โดนเหมือนกันค่ะ บ้านเก่าไม่มีคนอยู่มาลักต่อไฟที่หม้อเราใช้ ตอนนี้มีจดหมายให้ไปจ่ายค่าไฟ งงมาก, แบบนี้ก็มี, ไม่อยากจ่ายค่าไฟก็จุดเทียนเถอะ, แจ้งความเอาเรื่องให้ถึงที่สุด อยากเห็นหนังหน้าจัง คนพวกนี้ต้องประจาน

เคสนี้ ไม่ใช่รายแรก เพราะมีเหตุมาเป็นประจำเพียงแต่ว่า พวกเราที่เป็นเจ้าของบ้านไม่เคยผิดสังเกตกันน่ะสิ มีข่าวเกรียวกราว เมื่อปี 2561 บ้านเราโดนขโมยไฟใช้มาตลอด 10 กว่าปี! โดยคนข้างบ้าน

หากถามว่า พวกที่แอบขโมยใช้ไฟฟ้าบ้านคนอื่น มีความผิดตามกฎหมายอย่างไร?

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 441: ลักลอบใช้ไฟฟ้า กล้าทำก็ต้องรับผิดทั้งแพ่งและอาญา จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ มาตรา 335

โทษทางแพ่ง

เมื่อการไฟฟ้าตรวจพบว่ามีการละเมิดการใช้ไฟฟ้า สามารถดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อเรียกเก็บเงินค่าเสียหาย (ค่าเบี้ยปรับค่าไฟฟ้าหรือค่าเสียหายอื่น ๆ) จากผู้ละเมิดการใช้ไฟฟ้า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ หรือผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ที่อยู่อาศัยโดยตามระเบียบของการไฟฟ้า กำหนดอัตราค่าปรับในการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าไว้ ดังนี้

1. กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าต่อไฟตรงจากสายเมนโดยมิได้ติดตั้งมิเตอร์ จะคำนวณขนาดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กับการต่อไฟตรงรวม (แอมป์) แล้วนำมาเปรียบเทียบคิดค่าเบี้ยปรับเรียกเก็บตามขนาดของมิเตอร์

2. หากต่อไฟตรงจากสายเมนให้อาคารหรือที่อยู่อาศัยหลายแห่ง ให้คำนวณขนาดอุปกรณ์ไฟฟ้ารวม (แอมป์) แยกเป็นแต่ละแห่ง แล้วนำมาเปรียบเทียบคิดค่าเบี้ยปรับเรียกเก็บตามขนาดของมิเตอร์เป็นแต่ละแห่ง

ไฟฟ้า

โทษทางอาญา

1. ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

2. ความผิดฐานลักทรัพย์ที่กระทำในเวลากลางคืน หรือในบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ หรือในบริเวณที่มีอุบัติเหตุและอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ที่เข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-1 แสนบาท

เพราะฉะนั้น บ้านไหนที่จ่ายค่าไฟแพงกว่าปกติ ต้องหมั่นตรวจเช็กการเดินสายไฟ และ มิเตอร์ เพราะบางที อาจเจอเพื่อนบ้านมหาภัย แอบมา จั๊มมิเตอร์ไฟบ้านเราเอาไปใช้ฟรีๆ, หลายคนถามว่า แล้วจะรู้ได้ยังไง

คำแนะนำของผู้มีประสบการณ์ที่มาบอกเล่าเทคนิค

  • ไปดูที่เสาไฟฟ้ามีใครมาพ่วงไฟบ้านเราหรือเปล่า ดูเลขมิเตอร์จากใบเสร็จก็รู้แล้วว่าลูกไหนของเรา ถ้ามิเตอร์ของบ้านอื่นหายไป แล้วเขาจั๊มไฟตรง(ทำเอง) การไฟฟ้าฯ รู้เข้าโดนเอาผิดแน่นอน เสียค่าปรับบานเลย
  • สับ breaker เมน ในบ้าน แล้วไปดู ถ้ามิเตอร์วิ่ง ก็แปลว่าโดนแล้วครับ
  • ไล่สายไฟดูก็หายสงสัยแล้ว ถ้าเจอจริงก็แจ้งความลักทรัพย์ได้เลย
  • เมื่อไล่ดูแล้วก็ดูซีลตะกั่ว ว่ามีรอยแกะไหม หากมีรอยแกะตรงฝาปิดละก็ใช่เลย เขาเปิดฝาต่อไฟใช้ครับ
  • ปิดไฟ ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า ถอดปลั๊กในบ้านให้หมด แล้วไปดูที่มิเตอร์ไฟของบ้านเราว่าหมุนไหม (ดูเลขประจำตัวมิเตอร์ได้จากใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า) ถ้าหมุนเป็นไปได้ว่า โดนแอบพ่วง ก็เรียกการไฟฟ้ามาดูให้ครับ

ขอแนะนำเพิ่มเติม ถ้าโดนขโมยใช้ไฟฟ้า (กรณีข้างบ้านแอบมาจั๊ม) โดยที่เราไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่โวย, ไม่แจ้งการไฟฟ้า หรือแจ้งความ การไฟฟ้าเค้ามาเจอก่อน แม้ว่าเค้าจะไม่เสียผลประโยชน์ (เพราะเราจ่ายค่าไฟครบรวมของเพื่อนบ้านที่มาขโมยเราใช้) แต่เค้าจะถือว่าการกระทำนั้นเป็นการดัดแปลงมิเตอร์ และมิเตอร์เป็นของบ้านไหน บ้านนั้นต้องรับผิดชอบ เท่ากับว่าเรากลายเป็นจำเลย ซะงั้น

โดยสรุป หากเจอเหตุผิดปกติใด ๆ ก็ตาม ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการไฟฟ้าฯ ดีที่สุด แต่หากเจอหลักฐานชัด ๆ เป็นฝีมือเพื่อนบ้านจอมแสบ จัดการไปแจ้งความตำรวจ ข้อหา ลักทรัพย์ ได้เลย อย่าปล่อยให้ลอยนวลเด็ดขาด!

ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo