General

เช็กที่นี่!! 24 จังหวัด เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า และคลื่นลมแรง 30 ก.ค.-3 ส.ค.

เตือน!! 24 จังหวัด เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า และคลื่นลมแรง 30 ก.ค.-3 ส.ค.

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (206/2566) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า

น้ำท่วม

ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2566 ดังนี้

น้ำท่วม

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่

  • แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ)
  • เชียงใหม่ (อำเภอเมืองฝาง ไชยปราการ เชียงดาว แม่แตง แม่ริม)
  • เชียงราย (อำเภอแม่สาย เชียงแสน แม่จัน แม่ฟ้าหลวง)
  • ลำพูน (อำเภอเมือง)
  • ลำปาง (อำเภอสบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม)
  • พะเยา (อำเภอปง เชียงคำ จุน แม่ใจ)
  • แพร่ (อำเภอสอง วังชิ้น ร้องกวาง หนองม่วงไข่)
  • น่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง)
  • อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา น้ำปาด)
  • ตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่

  • หนองคาย (อำเภอสังคม โพธิ์ตาก)
  • บึงกาฬ (อำเภอเมือง บุ่งคล้า)
  • สกลนคร (อำเภอเมือง ภูพาน สว่างแดนดิน)
  • นครพนม (อำเภอเมือง)

ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่

  • กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ สังขละบุรี)
  • ชลบุรี (อำเภอบ้านบึง ศรีราชา บางละมุง)
  • ระยอง (อำเภอเมือง แกลง บ้านค่าย)
  • จันทบุรี (อำเภอเมือง เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง)
  • ตราด (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่

  • ชุมพร (อำเภอเมือง พะโต๊ะ)
  • ระนอง (ทุกอำเภอ)
  • พังงา (อำเภอเมือง ตะกั่วป่า กะปง คุระบุรี)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • กระบี่ (อำเภอเมือง เกาะลันตา คลองท่อม)

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่

  • ชลบุรี (อำเภอเมือง ศรีราชา บางละมุง สัตหีบ)
  • ระยอง (อำเภอเมือง บ้านฉาง แกลง)
  • จันทบุรี (อำเภอนายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์)
  • ตราด (อำเภอเมือง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด)

ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่

  • ระนอง (อำเภอเมือง สุขสำราญ กะเปอร์)
  • พังงา (อำเภอเมือง เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
  • ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
  • กระบี่ (อำเภอเมือง คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)

น้ำท่วม

ประสานจังหวัดพื้นที่เสี่ยง เตรียมรับมือ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง

โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง  โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ  ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

น้ำท่วม

ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo