General

ผบ.ตร. สั่ง ‘กวดขัน 10 ข้อหา’ ลดอุบัติเหตุช่วงหยุดยาว คุมเข้มขายเหล้า สกัดเมาแล้วขับ

ผบ.ตร. สั่ง “กวดขัน 10 ข้อหา” ลดอุบัติเหตุช่วงหยุดยาว คุมเข้มขายเหล้า สกัดเมาแล้วขับ ตรวจแอลกอฮอล์ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุ

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ผอ.ศจร.ตร. แจ้งว่า ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยถอดบทเรียนจากเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ อาทิ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับขี่ขณะเมาสุรา แซงในที่คับขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ ในห้วงระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2566

โดยให้พิจารณาตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในบริเวณที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย โดยให้พิจารณาจากความเหมาะสมจากสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ และไม่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือสั่งการของ ตร.เกี่ยวกับการตั้งด่านฯ

10 ข้อหา

กวดขัน 10 ข้อหา คุมเข้มขายเหล้า เมาแล้วขับ 

นอกจากนี้ ผบ.ตร. ยังกำชับให้ ทุกหน่วยเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายกรณีการจำหน่ายสุรา ห้ามจำหน่ายในห้วงเวลาที่กำหนด ห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่ หรือโดยสารบนรถ

พร้อมย้ำแนวทางปฏิบัติ กรณีเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนที่มีคู่กรณี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย หากตรวจพบให้ดำเนินคดีให้ครบทุกข้อหา และตรวจสอบประวัติการต้องโทษเพื่อประกอบการบวก หรือเพิ่มโทษแล้วแต่กรณี

หากพบว่าผู้ขับขี่ที่เมาสุราอายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องขยายผลดำเนินคดีกับผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และกรณีผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราอายุน้อยกว่า 18 ปี จะต้องมีการขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูงส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือบุคคลที่จำหน่ายสุราให้กับเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ เพื่อให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วงหยุดยาวนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

10 ข้อหา

ผอ.ศจร.ตร. ยังได้สั่งการให้ตำรวจจราจรทั่วประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา โดยให้พิจารณาเปิดช่องทางเดินพิเศษในเส้นทางที่มีความจำเป็น เช่น มีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรตามจุดต่างๆ ดูแลการจราจรและจัดระเบียบการจอดรถโดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

พร้อมกำชับให้ตำรวจทุกหน่วยสำรวจและปรับปรุงเครื่องหมายและสัญญาณจราจรในพื้นที่ ให้มีไฟส่องสว่างที่สามารถใช้งานได้จริง เร่งรัดการคืนผิวจราจรให้มากที่สุด รวมถึงประชาสัมพันธ์เส้นทางที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม จุดเตือน หรือมีการจราจรหนาแน่น พร้อมเส้นทางเลี่ยง เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างคล่องตัว

10 ข้อหา

เดินทางด้วยความไม่ประมาท

พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศจร.ตร.) ได้กำชับทุกหน่วยในที่ประชุมบริหารงานจราจรประจำเดือน กรกฎาคม 2566 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาเผยสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรตั้งแต่ มกราคม – มิถุนายน 2566 ในระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (PRS) พบว่า 4 อันดับแรก คือ เกิดจากการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย คือ หมวกนิรภัย/เข็มขัดนิรภัย (13,434 ราย) ขับรถเร็วเกินกำหนด (4,984 ราย) เปลี่ยนเลนหรือเลี้ยวรถระยะกระชั้นชิด (2,271 ราย) และหลับใน (1,119 ราย)

จึงขอความร่วมมือจากประชาชน เดินทางด้วยความไม่ประมาท เตรียมพร้อมและสวมใส่หมวก/คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่  ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงหยุดพักเมื่อเกิดอาการเหนื่อยหรือง่วง เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ร่วมทาง

ด้าน พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ตำรวจจราจร ศจร.ตร. กล่าวย้ำว่า หากเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ ประชาชนสามารถสอบถาม แจ้งขอความช่วยเหลือ และแจ้งเหตุขัดข้องด้านการจราจร ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่

  • โทร. 191 จราจรทุก สน./สภ.
  • โทร. 1197 สายด่วนตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • โทร. 1193 ตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ

ในห้วงหยุดยาวนี้ ขอให้ประชาชนทุกท่านขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เคารพกฎจราจร มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมทาง เดินทางท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ ด้วยความห่วงใยจาก ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo