General

​5 หน่วยงานรัฐ คุมเข้มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล-แลกเปลี่ยนเงิน สกัดฟอกเงิน

​5 หน่วยงานรัฐ จับมือวางมาตรการสกัดมิจฉาชีพ ใช้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แลกเปลี่ยนเงินตามแนวชายแดน เป็นช่องทางฟอกเงิน ผ่องถ่ายทรัพย์ ออกนอก

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทั้งด้านป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านระบบออนไลน์ ตลอดจนสกัดเส้นทางการเงินทุกทางอย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดกับประชาชน

shutterstock 1838417638

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ตช. กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพใช้ช่องทางการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันโดยตรง (Peer-to-Peer) ภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต

ขณะที่การประกอบธุรกิจและเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามแนวชายแดน ก็เป็นช่องทางในการโอนเงินที่ได้จากการกระทำผิดออกไปยังต่างประเทศ และยังใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินของผู้กระทำผิดกฎหมายด้วย

ปัจจุบันทั้ง 5 หน่วยงานได้ประสานการทำงาน กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการบูรณาการ สกัดการใช้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราตามแนวชายแดน เป็นแหล่งฟอกเงินและผ่องถ่ายเงินจากการหลอกลวงคนไทยออกไปต่างประเทศ โดยแบ่งจัดการติดตามตรวจสอบตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้

ตช. ได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกันโดยตรง (Peer-to-Peer) ภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามแนวชายแดน มีการขยายผลการกระทำผิดในทุกคดี

ไตรศุลี 4

ทั้งนี้ หากพบผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-Peer และผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามแนวชายแดน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดทุกกรณี และหากพบว่าเป็นความผิดมูลฐานให้ส่งเรื่องแจ้งให้สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทันที

ด้านสำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยตามที่ ตช. ส่งข้อมูลให้เพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินและความเชื่อมโยงของบัญชีธนาคารและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อระงับ ยึด หรืออายัด และให้แจ้งผลให้ ตช. ดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นช่องทางฟอกเงิน

ส่วนกรมสรรพากร ดำเนินการตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-Peer ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต และผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามแนวชายแดน ตามที่ ตช. ได้จัดทำฐานข้อมูลและส่งให้ตรวจสอบ หากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับ ธปท. ดำเนินการประกาศพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำธุรกรรมการโอนเงินไปยังต่างประเทศจากพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง หากพบธุรกรรมต้องสงสัยจะมีการระงับการทำธุรกรรมและแจ้งการทำธุรกรรมต้องสงสัยให้ ตช. ทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนของสำนักงาน ก.ล.ต. ติดตามตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากพบการทำผิดมีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด พิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อให้สามารถควบคุมและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Peer-to-Peer ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ยังดำเนินการออกประกาศ ข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ให้มีมาตรฐานการปฏิบัติเช่นเดียวกับธนาคาร จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ ความเคลื่อนไหวการทำธุรกรรม

หากพบบัญชี หรือการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และให้แจ้งผลการปฏิบัติให้ ตช. ทราบ เพื่อบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo