General

จุดความร้อนไทยวานนี้ ลดลงเหลือ 1,100 จุด ‘เชียงราย’ สูงสุดทั้งจุดความร้อน-ฝุ่น PM2.5

จุดความร้อนไทย ลดลงเหลือ 1,100 จุด ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เช้านี้ยังคงเกินค่ามาตรฐานกว่า 30 จังหวัด เชียงรายยังคงสูงสุดทั้งจุดความร้อน-PM2.5

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 16 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 1,100จุด ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างพม่ายังครองแชมป์อันดับหนึ่งอยู่ที่ 5,417 จุด, สปป.ลาว 1,331 จุด, เวียดนาม 78 จุด ,มาเลเซีย 49 จุด และกัมพูชา 5 จุด

จุดความร้อนไทย

ข้อมูลจากดาวเทียมระบุอีกว่า จุดความร้อนไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุด 504 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 472 จุด,พื้นที่เขต สปก. 55จุด ,พื้นที่เกษตร 43 จุด และพื้นที่ชุมชนอื่นๆ 26 จุด

ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงราย 279 จุด, เชียงใหม่ 215 จุด, น่าน 115 จุด

จุดความร้อน 2

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของวันนี้ เวลา 8.00 น. ยังคงเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับสีส้มไปถึงสีแดงในหลายพื้นที่ โดยกระจายกันไปยังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายมีค่าฝุ่นอันดับหนึ่งอยู่ 204.6 ไมโครกรัม รองลงมา แม่ฮ่องสอน 169 ไมโครกรัมและพะเยา 144.2 ไมโครกรัม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา

ฝุ่น1

ส่วนกรุงเทพมหานคร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อดูของแต่ละเขตพบว่า บางบอน บางขุนเทียน บางแค ทุ่งครุ ภาษีเจริญ ราชเทวี ตลิ่งชัน จอมทอง ปทุมวัน มีค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานระดับสีส้ม ที่เริ่มส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่า และจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา

ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทย มีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ

ฝุ่น 2

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับ 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://fire.gistda.or.th/dashboard.html และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน เช็คฝุ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo