General

เปิดตำนาน ‘นางสงกรานต์’ รู้ได้อย่างไร ปีไหน ต้องเป็นองค์ไหน

นางสงกรานต์ เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศรีษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง

ตำนานเล่าว่า ในอดีตมีเศรษฐีคนหนึ่งเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่อาภัพเรื่องบุตรสืบสกุล จึงบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่ก็ยังไม่เป็นผล ในช่วงฤดูร้อนหลายปีต่อมา เศรษฐีได้ถวายข้าวสารซาวน้ำ 7 สี เครื่องถวาย ดนตรีปี่พาทย์บูชาขอลูกจากรุกขพระไทร ท่านเกิดความเห็นใจจึงขอบุตรกับพระอินทร์ให้ เศรษฐีจึงได้บุตรชาย ตั้งชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร”

นางสงกรานต์

ธรรมบาลกุมารเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบ ฉลาดหลักแหลมจนมีชื่อเสียงร่ำลือ เป็นที่พูดถึง และเป็นที่รู้จักไปทั่ว เมื่อเรื่องถึงหูท้าวกบิลพรหม จึงเกิดการประลองปัญญาถามคำถาม หากฝ่ายใดแพ้ตอบไม่ได้จะต้องตัดศีรษะบูชา ซึ่งท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นจะเกิดเพลิงไหม้โลก ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บุตรธิดาหรือนางสงกรานต์มาสลับสับเปลี่ยนทำหน้าที่อัญเชิญศีรษะของตน

นางสงกรานต์

เกณฑ์การเลือกนางสงกรานต์ 

โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ ตรงกับวันใด ก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ โดย นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์

  • ทุงษะเทวี

ทุงษะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

นางสงกรานต์

  • โคราคะเทวี

โคราคะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

นางสงกรานต์

  • รากษสเทวี

รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

นางสงกรานต์

  • มัณฑาเทวี

มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

นางสงกรานต์

  • กิริณีเทวี

กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)

นางสงกรานต์

  • กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

นางสงกรานต์
กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ปี 2566
  • มโหทรเทวี

มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

นางสงกรานต์

ในปี 2566 นี้ วันที่ 14 เมษายน 2566 เป็น “วันมหาสงกรานต์” ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที นางสงกรานต์ 2566 จึงได้แก่ กิมิทาเทวี

ภาพ: กระทรวงวัฒนธรรม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo