COVID-19

‘ร้องเพลง’ กิจกรรมแพร่เชื้อโควิดสูงสุด 42% ‘หมอนิธิพัฒน์’ เตือนกลุ่มเสี่ยงใส่หน้ากากตลอดเวลา

“หมอนิธิพัฒน์” เปิดผลวิจัยสวีเดน พบกิจกรรมร้องเพลง เสี่ยงแพร่เชื้อโควิดในบ้านสูงสุด แนะกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เตือนระวังการแพร่เชื้อโควิดในที่พักอาศัย โดยระบุว่า

แพร่เชื้อโควิด

ตัวเลขรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ของผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศ ลดลงช้าๆ ต่ำกว่าเก้าพันต่อวันติดต่อมาเป็นวันที่สามแล้ว

การเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคหลังโควิดที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรู้จักดูแลตนเอง และสมาชิกร่วมบ้าน หรือร่วมที่พัก เมื่อมีการติดเชื้อหรือป่วย หากช่วยกันตัดตอน ไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ได้ โอกาสที่เราจะควบคุมให้เป็นโรคระบาดที่ต้องจับตา ไปจนถึงโรคประจำถิ่น ก็คงไม่เหลือวิสัย

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยจากสวีเดน ได้ทำการติดตามการแพร่กระจายเชื้อในที่พักของผู้ที่ตรวจพบเชื้อจำนวน 38 คน ด้วยวิธีการดังรูป

แพร่เชื้อ

ทีมวิจัยพบว่า สามารถตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากละอองลอย (aerosols) ในตัวอย่างอากาศที่เก็บมาตรวจได้ 19 จาก 38 คน (50%) โดยโอกาสตรวจพบเชื้อจะลดลงไปรายวัน หลังจากเริ่มมีอาการ

สำหรับกิจกรรมที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในอากาศได้จากมากไปน้อยคือ การร้องเพลง (42%) การพูดคุย (30%) และการหายใจตามปกติ (8%)

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ตรวจพบเชื้อในอากาศรอบตัว พวกเขาจะแพร่เชื้อให้สมาชิกร่วมที่พักได้ 63% แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ยังไม่พบเชื้อ ก็สามารถแพร่ได้ 27% https://www.ncbi.nlm.nih.gov/…/PMC8992237/pdf/ciac202.pdf

หากเป็นเช่นนี้ หมายความว่า ขณะที่คนกลุ่มเสี่ยงสูง หรือคนติดเชื้อ หรือคนป่วยอาการไม่รุนแรง แยกตัวอยู่ในที่พัก หากมีผู้อื่นอาศัยร่วมชายคาอยู่ด้วย ควรใส่หน้ากากตลอดเวลา ไม่ไปร่วมร้องเพลงหรือพูดคุยกับคนอื่น และเคร่งครัดในการแยกตัวไม่ให้มีอากาศไหลไปมาหาสู่กับคนร่วมที่พักได้

นิธิพัฒน์

เพราะแม้เพียงหายใจธรรมดาก็แพร่เชื้อได้ เหมือนกับการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค ยิ่งถ้าหาเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพกรองไวรัสซาร์โควี-2 มาตั้งในห้องพักได้ด้วย ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศที่หมุนเวียนในที่พักได้ดีขึ้น แล้วใช้การเปิดหน้าต่างสู่ภายนอกเป็นครั้งคราว ถ้าหน้าต่างนั้นอยู่ห่างจากที่มีคนอยู่เกิน 8 เมตรขึ้นไป

ผ่านมาเกือบสามปี ยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับโควิด ที่เรายังไม่รู้ หรือรู้แต่ยังไม่กระจ่าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะมัวแต่หดหัวไม่กล้าออกไปเผชิญโลก แต่ถ้าออกไปเผชิญแล้วเจ็บป่วยขึ้นมา ต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องเป็นภาระกับผู้อื่น และไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับระบบสุขภาพที่กำลังเดินหน้าหวนคืนสภาพเดิมให้เต็มร้อย

บางเรื่องที่ไม่รู้ก็ปลอบใจตัวเอง ด้วยเสียงเพลง “Nobody Knows” ของศิลปินไทย แสตมป์ อภิวัชร์ ที่โกอินเตอร์ไปแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo