COVID-19

‘หมอธีระ’ อัพเดทงานวิจัยอังกฤษ ชี้ Long COVID กระทบสมองหลายอย่าง!

‘หมอธีระ’ อัพเดทงานวิจัยอังกฤษ ชี้ Long COVID กระทบสมองหลายอย่าง เตือนสถานการณ์ระบาดของไทย ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรตระหนัก รู้เท่าทัน ย้ำ! ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 508,140 คน ตายเพิ่ม 2,097 คน รวมแล้วติดไปรวม 515,755,796 คน เสียชีวิตรวม 6,271,647 คน

หมอธีระ

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 72.57% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 76.39%

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 24.69% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 10.58%

หมอธีระ

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมากตั้งแต่ 1 พ.ค. เพราะหน่วยงานไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19)

ทั้งนี้ จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 24.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 49 วันแล้ว

ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น หลังจากติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมา 19 วัน ล่าสุดหยุดสถิตินี้ไว้ได้แล้วเนื่องจากจำนวนลดลงหลังจากปรับรายงานเฉพาะ Death from COVID-19…

หมอธีระ

อัพเดตงานวิจัย Long COVID…

NEJM Journal Watch วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทบทวนงานวิจัยเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อสมอง

โดยสรุปงานวิจัยสำคัญจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเปรียบเทียบผลการตรวจสมองด้วยการทำ MRI และการทดสอบความคิดความจำ (cognitive test) จำนวน 2 ครั้ง ในกลุ่มที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างระยะเวลาที่ติดตามนาน 18 เดือน จำนวน 401 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 384 คน ทั้งนี้มีเพียง 4% ของผู้ติดเชื้อที่ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้จะติดเชื้อโดยป่วยเล็กน้อยก็ตาม จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองหลายอย่าง ทั้งขนาดสมองที่ลดลง, เนื้อสมอง gray matter ในส่วน orbitofrontal cortex และ parahippocampal gyrus บางลง, และสมรรถนะด้านความคิดความจำลดลง

การเปลี่ยนแปลงของสมองดังกล่าวนั้นจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด? จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะ Long COVID หรือไม่? และจะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในอนาคตหรือไม่? ยังเป็น 3 คำถามสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็น

…ด้วยสถานการณ์ระบาดของไทย ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงควรตระหนัก รู้เท่าทัน และประพฤติปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม
ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด…

อ้างอิง

  1. Komaroff AL. Even Mild COVID-19 Can Lead to Substantial Brain Changes. NEJM Journal Watch. 4 May 2022.
  2. Douaud G et al. SARS-CoV-2 is associated with changes in brain structure in UK Biobank. Nature 2022 Apr 28; 604:697.
  3. Gollub RL. Brain changes after COVID revealed by imaging. Nature 2022 Apr 28; 604:633

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK