COVID-19

ถึงเวลาตรวจ antibody ‘ดร.อดุลย์’ ชี้ข้อมูลสำคัญฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น กลุ่ม 608

“ดร.อดุลย์” แนะกลุ่ม 608 ที่ยังลังเลไม่อยากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ตรวจ antibody หาภูมิคุ้มกัน ประกอบการตัดสินใจฉีด-ไม่ฉีด

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่อง ได้เวลาของ kit ตรวจ antibody ของ Covid-19 หรือยัง โดยระบุว่า

ตรวจ antibody

การเลือกใช้เครื่องมือที่ใช้สำหรับสถานการณ์ ต่างกัน มีความสำคัญมาก

ยุคแรกที่ Covid-19 อู่ฮั่น การล็อกดาวน์ เป็นเครื่องมือที่เหมาะมาก เพราะ เราไม่รู้จักมัน และมีคนตาย ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับโรคระบาดทั่วไปที่เรารู้จัก

ยุคสายพันธุ์อังกฤษใหม่ ๆ เรารู้ว่าล็อกดาวน์ไม่ไหวแล้ว การให้คนอยู่ รพ. ก็มีที่ไม่พอ ฮอสพิเทล จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมในยุคนั้น ช่วยให้เราควบคุมโรคได้ดีขึ้น และ การเริ่มทดลองวัคซีน ดูเป็นทางออก ร่วมกับการใช้ยา Favipiravir ทำให้เราผ่านจุดนั้นมาได้

พอถึงเดลตา ซึ่งระบาดอย่างรวดเร็ว การรอตรวจ RT-PCR ในรพ. หรือ ห้อง LAB ทำไม่ทันแน่นอน เพราะติดง่ายติดเร็วมาก ATK จึงเป็นทางออก

และด้วยมีคนที่อาการน้อยเยอะขึ้น การเข้า Hospitel สำหรับคนจำนวนมากก็ไม่ไหว Community isolation และ Home isolation จึงเริ่มเข้ามาเป็นตัวช่วยผ่อนให้ รพ. ไม่หนักมาก และ การรับผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่เป็น Covid-19 ก็สามารถทำได้ หลังจากที่ทั้งอั้น ทั้งเลื่อนมาเกือบ 2 ปี

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๔๐๔

ในยุคนี้ แพทย์แนะนำให้ตรวจ ATK ซึ่งเป็น antigen test kits แต่ไม่แนะนำให้ตรวจหา antibodies ซึ่งถึงแม้จะมีชุดตรวจออกมาเหมือนกัน

ระยะแรกคนทั่วไปมีความสับสนแล็กน้อย แต่ ตอนนี้ทุกคนรู้ว่า ควรตรวจ antigen ไม่ใช่ antibody เพราะจะรู้ได้ว่าใครติดเชื้อ ซึ่งการตรวจ antibody ไม่สามารถบอกได้ว่าใครติดเชื้อ

ยุคโอไมครอน ที่ระบาดเร็วกว่าเดลตา แต่อาการน้อยมาก และ มีคนได้รับวัคซีน อย่างน้อย 1 เข็มมากกว่า 70% จึงทำให้สบายใจได้ระดับหนึ่งว่า ถึงติดเชื้อก็ไม่ป่วยหนัก ทำให้ลืมเรื่อง ล็อกดาวน์ไปได้เลย

การรักษาส่วนใหญ่ ก็จะเป็น home isolation หรือ self isolation ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือ hospital ซึ่งเก็บ หอผู้ป่วย Covid-19 ของ รพ. ไว้สำหรับคนที่มีอาการหนัก เพราะคนส่วนใหญ่ ป่วยแล้วก็หายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ต้องมา รพ. แค่ระวังไม่ให้แพร่เชื้อไปคนอื่นเท่านั้น

ในยุคโอไมครอนนี้ กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ กลุ่ม 608 ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้เข็มกระตุ้น เพราะจากสถิติในช่วงของการระบาดรอบนี้ คนที่ป่วยหนัก หรือตาย คือคนในกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือ ฉีดไม่ครบ หรือไม่ได้ฉีดกระตุ้น

เราจึงเห็น รัฐบาล และสื่อ ออกมารณรงค์มากมายให้พาคนกลุ่มนี้ ไปฉีดวัคซีน แต่ก็ยังได้ผลน้อย เหตุผลหรือครับ

หมออดุลย์

เหตุที่คนไม่ยอมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น น่าจะมีเหตุใหญ่ ๆ 2 ประการ

1. กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน (ซึ่งเข้าใจได้ มีข่าวจริงบ้าง ไม่จริงบ้างมาให้ได้ยิน และกลายเป็นภาพจำว่า ฉีดวัคซีน อาจจะเสียชีวิตหรือพิการ

2. คิดว่า ที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม ก็มีภูมิแล้ว ถ้าเพิ่มความระวังตัวอีกหน่อย น่าจะไม่เป็นอะไร และเป็นการเสริมกันของ เหตุผล 2 ข้อนี้ ทำให้รู้สึกว่า ไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ได้

ผมเลยชวนให้คนกลุ่มนี้ มาตรวจหา antibody กันครับ ซึ่งการตรวจ ก็มีชุดตรวจ antibody test kid ขาย ซึ่งใช้การเจาะเลือดปลายนิ้วตรวจ ไม่ใช่การ swab แยงจมูก ครับ (ชุดตรวจพวกนี้ ไม่ใช่ ATK นะครับ ATK ตรวจหา antigen แต่เราจะตรวจ antibody)

ที่ชวนให้ตรวจ antibody จะได้รู้ว่าเหตุผลข้อ 2 ที่แต่ละคนเชื่อว่าวัคซีนที่เคยฉีดแล้ว มีภูมิคุ้มกัน พอให้ไม่ติดโรค หรือป่วยหนักได้ไหม ถ้าภูมิยังสูงอยู่ ก็ไม่ต้องฉีดครับ ความเชื่อของแต่ละท่านถูกต้อง แต่ถ้าภูมิต่ำมาก ก็อยากชวนให้พิจารณากันใหม่ เพราะเหตุผล เหลือข้อเดียวแล้ว คือ กลัวผลเสียจากการฉีดวัคซีน

ก็ลองมาพิจารณา ว่าผลเสียจากวัคซีน กับผลเสียจากการติดเชื้อ (เพราะไม่มีภูมิแล้ว) อันไหนจะมากกว่ากัน ผู้ที่ไม่อยากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจได้มากขึ้นครับ

ชวน ผู้ที่ไม่อยากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ตรวจภูมิ หา antibody กันครับ ถ้ามีภูมิคุ้มกันสูง ก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo