COVID-19

ระวัง! 2 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อโควิดดีดตัวขึ้นอีก ‘หมออุดม’ ชี้ ผลพวงคลายล็อก 1 ก.ย.

“หมออุดม” เตือน อีก 2 สัปดาห์  จับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ดีดสูงขึ้น ผลพวงจากคลายล็อก 1 ก.ย. ย้ำทุกคนต้องช่วยกัน ระบุ ต้องรอถึง ต.ค. ถึงจะรู้ว่า จะคลายล็อกเพิ่มได้หรือไม่  ย้ำ ตัวเลขติดเชื้อควรต่ำกว่า 5 พัน ตายไม่เกิน 50 ระบบ สธ.ไทยรับไหว ไม่เหนื่อยมาก 

ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  หรือ ศบค. กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายวัน ที่พบต่ำกว่า 15,000 คน ในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และตลอดเดือนสิงหาคม ทั้งการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อค่อยๆ ลดลง

แต่เมื่อเริ่มมีการคลายมาตรการบางอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเปลี่ยนไปในอีก 2 สัปดาห์หน้า กราฟผู้ป่วยติดเชื้อ จะค่อย ๆ กลับมาเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ต้องเกิดขึ้น เหมือนกับกฎของโมเมนตัม

87414 60e442a057a23

ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอีก ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevantion ) และในหน่วยงาน องค์กร หรือสำนักงานต่าง ๆ ร่วมกันทำ Covid free setting สุ่มค้นหาผู้ป่วยในสถานที่ทำงานทุกสัปดาห์ ร่วมกับมาตรการส่วนบุคคลที่เคร่งครัด ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้แน่นอน

ศ.นพ.อุดมกล่าวว่า ได้อธิบายสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อในที่ประชุม ศบค. ซึ่งนายกรัฐมนตรี รับทราบ และเข้าใจแล้ว จึงยังไม่ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทั้งหมด ในวันที่ 15 กันยายนนี้  จะรอให้ถึงวันที่ 1 ตุลาคมก่อน จึงค่อยมาดูสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อว่า สมควรจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ หรือไม่

ยอมรับว่า ที่ผ่านมาคนมักมองเรื่องของสุขภาพ และเศรษฐกิจสวนทางกัน แต่ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องเดินควบคู่กันไป เพราะโควิดไม่สามารถจบลงได้โดยเร็ว แต่ต้องบริหารจัดการอย่างไร ที่ทำให้ตัวเลขการป่วยติดเชื้อไม่เป็นภาระหนัก จนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว และเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้

ทั้งนี้ สำหรับอัตราการคนไข้ป่วยติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขรับได้ไม่เกินกำลัง ควรต่ำกว่าวันละ 5,000 คน และตายไม่เกิน 50 คน ถือว่ารับได้ไม่เหนื่อยมาก

หากตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่ 5,000-10,000 คนต่อวัน ยังพอรับได้ เพราะหากดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อครองเตียงในขณะนี้ จะเห็นว่าแม้ตัวเลขลดลง แต่เตียงในโรงพยาบาล ของผู้ป่วยสีแดงยังเต็มอยู่ แต่หากติดเชื้อเกิน 10,000 คนต่อวัน ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสาธารณสุขเริ่มหลังแอ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo