COVID-19

‘หมอนิธิ’ แจงรายงานผลข้างเคียง ‘ซิโนฟาร์ม’ คลาดเคลื่อน ชี้ไม่พบอาการรุนแรง ยันวัคซีนปลอดภัย

วัคซีนซิโนฟาร์ม “หมอนิธิ” ชี้ รายงานอาการข้างเคียง มากถึง 13.71% ของผู้ฉีด เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โชว์ข้อมูลมีผลข้างเคียงน้อยมาก ยืนยัน คนที่ฉีดมั่นได้ว่า ปลอดภัยสูง

จากกรณีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ Chulabhorn Royal Academy ” ได้เปิดเผย ข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม วันที่ 25-30 มิถุนายน 2564 โดยจากข้อมูลจากการติดตามประเมินอาการ หลังได้รับวัคซีนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 67,992 คน เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 9,325 คน (13.71%) ขณะที่มีผู้รับวัคซีนเข้ารับการรักษาอาการข้างเคียง ที่โรงพยาบาล รวม 61 คนนั้น

ล่าสุด วันนี้ (4 ก.ค.) นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Nithi Mahanonda อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เป็นความคลาดเคลื่อนในการรายงาน โดยระบุว่า

วัคซีนซิโนฟาร์ม

วัคซีนซิโนฟาร์ม “หมอนิธิ” ชี้รายงานอาการข้างเคียง เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มทั่วประเทศ 67,992 รายนั้น ร้อยละ 97 ไม่พบอาการผิดปกติ ในส่วนการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ พบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ระหว่างรอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน เพียง 100 รายจากทั้งหมด 67,992 รายที่รับวัคซีน คิดเป็น 0.1% เท่านั้น ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที หลังรับวัคซีน และอาการที่พบบ่อยได้แก่ เวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ทุกราย มีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง

ในส่วนการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ภายหลังรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 วันนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดส่ง sms รายงานอาการไม่พึงประสงค์ แก่ผู้รับบริการวัคซีน เพื่อติดตามความปลอดภัย อาการข้างเคียงได้อย่างทันท่วงที พบว่า มีผู้ตอบ sms จำนวน 17,154 ราย คิดเป็น 25% ของผู้รับบริการวัคซีน

วัคซีนซิโนฟาร์ม

ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ และในจำนวนผู้ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกตินั้น พบอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่

  • ปวดศีรษะ (2.3%)
  • อ่อนเพลีย (1.7%)
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (1.7%)
  • ปวด บวมบริเวณที่ฉีดยา (1.6%)
  • ไข้ (1.5%)

อาการเหล่านี้ สอดคล้องกับผลการรายงาน evidence assessment: Sinopharm/BBIBP COVID-19 vaccine ของ WHO ซึ่งรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย

ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของผู้รับบริการวัคซีนทุกราย ในกระบวนการรับวัคซีนซิโนฟาร์ม จะมีประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาล เมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ เกิดขึ้น สามารถเคลมประกันเข้ารับการรักษาได้โดยง่าย

จากรายงานบริษัทประกันพบว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนแล้วขอเคลมประกันรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์โดยรับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 8 ราย ซึ่งขณะนี้ ขอเน้นย้ำว่า “ยังไม่มีการรายงานอาการรุนแรง จากการรับวัคซีนซิโนฟาร์มเลย” 

วัคซีนซิโนฟาร์ม

ในส่วนการรายงานอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รายงานทุกเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ ในการรับบริการฉีดวัคซีน

ดังนั้น จึงรายงานอาการไม่พึงประสงค์ โดยพบผู้ป่วยโรคลมชัก และเบาหวาน ชนิดพึ่งอินสุลิน 1 ท่าน มารับบริการฉีดวัคซีน ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา และพบว่า มีอาการชัก

ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ให้การรักษา และตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan ,MRI และ MRA สมอง ไม่พบความผิดปกติในสมอง การวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท วินิจฉัย pseudoseizure ซึ่งได้รับการรักษา และผู้ป่วยอาการกลับมาเป็นปกติ กลับบ้านได้

ดังนั้น ขอให้ประชาชนผู้รับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้มั่นใจว่า วัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์ ที่พบเป็นเพียงอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลย จากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 67,992 ราย

นิธิ มหานนท์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
4 กรกฎาคม 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo