COVID-19

CDC สหรัฐ เตือน!! โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘เฟลิร์ท’ เสี่ยงสูงระบาดหนักช่วงฤดูร้อนนี้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ เตือน โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “เฟลิร์ท” อาการคล้ายโอไมครอน JN.1 แต่มีความเสี่ยงสูงที่อาจระบาดหนักในช่วงฤดูร้อนนี้ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ได้ออกคำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า เฟลิร์ท  (FLiRT) ซึ่งเป็นกลุ่มของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยหลายสายพันธุ์

shutterstock 2153459155

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ KP.2 ที่พบได้ในสัดส่วนราว 25% ของผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะระบาดหนักในช่วงฤดูร้อนนี้ แทนที่สายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดไปทั่วโลกในฤดูหนาวที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีโอไมครอนสายพันธุ์ KP.1.1 ที่กำลังแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน โดยพบในสัดส่วนประมาณ 7.5% ของผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐ ระบุว่าสายพันธุ์ เฟลิร์ท มีคุณลักษณะบางประการที่น่ากังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามที่ช่วยให้ไวรัสฝังตัวอยู่กับเซลล์ของร่างกาย อันนำไปสู่อาการป่วย และยังกังวลว่าประชากรจำนวนน้อยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดรุนแรงขึ้นได้

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ก็จะคอยเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายตามชุมชนและประสิทธิภาพของวัคซีน

โควิด 1

สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เฟลิร์ท จากรายงานระบุว่ามีความคล้ายคลึงกับอาการของสายพันธุ์โอไมครอน JN.1 ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดเมื่อยร่างกาย หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสียเล็กน้อย และอาเจียน รวมถึงอาการที่เรียกว่า สมองมึนงง คือ ความรู้สึกไม่ตื่นตัวและตระหนักรู้น้อยลง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ ได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับโควิด-19 ใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2567 โดยไม่ได้แนะนำให้ผู้ติดเชื้อต้องกักตัวที่บ้าน 5 วันอีกต่อไป แต่ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ได้แก่ การอยู่แต่ในบ้านเมื่อป่วย ฉีดวัคซีนครบถ้วน รักษาสุขอนามัยที่ดี และปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคาร

แนวทางใหม่นี้ง่ายและเข้าใจได้สำหรับบุคคลทั่วไป โดยผู้ที่ไม่มีไข้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องกินยาลดไข้ และมีอาการอื่น ๆ ไม่รุนแรงหรือดีขึ้นแล้ว สามารถออกจากบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

shutterstock 1687170211

หากผลการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนที่บ้าน (ATK) เป็นลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดเชื้อเสมอไป เพราะความแม่นยำอาจแตกต่างกันไป และมีความไวน้อยกว่าการตรวจ PCR โดยเฉพาะในระยะแรกของการติดเชื้อหรือไม่มีอาการ

ดังนั้นหากยังมีอาการคล้ายโควิด-19 ก็ควรตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรก (ที่ให้ผลลบ) ใน 48 ชั่วโมง และถ้ายังมีอาการอยู่และตรวจครั้งที่สองยังให้ผลลบอีก ก็ให้พิจารณาตรวจครั้งที่สามหลังจากนั้นอีก 48 ชั่วโมง หรือไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจด้วยวิธี PCR ที่มีความไวสูงกว่า

แม้ว่าข้อกำหนดการกักตัวจะผ่อนคลายลงแล้ว แต่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจ ATK ซ้ำหากยังมีอาการ และควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อและการติดเชื้อในวงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo