COVID-19

จับตา โอไมครอนกลายพันธุ์ ตระกูล ‘เฟลิร์ท’ ติดต่อง่ายหวั่นระบาดรอบใหม่

ศูนย์จีโนมฯ เผยหลายประเทศ กังวลโอไมครอนกลายพันธุ์ ตระกูล “เฟลิร์ท” สายพันธุ์ย่อย KP.2-KP.1.1 เหตุติดต่อง่ายขึ้น แต่ยังไม่พบอาการรุนแรง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า เฟลิร์ท (FLiRT) กลุ่มโอไมครอนกลายพันธุ์ที่หลายประเทศเริ่มกังวลติดต่อง่ายขึ้น แต่ยังไม่พบอาการรุนแรง โดยสมาชิกหลักในกลุ่มคือ โอไมครอน KP.2 ยังไม่พบในไทย และโอไมครอน KP.1.1 พบในไทยแล้ว 1 ราย

โอไมครอนกลายพันธุ์

กลุ่มโอไมครอนตระกูล FLiRT ที่ระบาดทั่วโลกได้แก่ โอไมครอน KP.2 และ KP.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอไมครอนที่พบแพร่ระบาดอยู่ในสหรัฐเป็นหลักในขณะนี้ โดย KP.2 พบถึง 25% ของผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐ ส่วน KP.1.1 พบประมาณ 7.5%

ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้งสองสายพันธุ์แพร่เชื้อได้มากกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ JN.1 เพราะจากการประเมินจากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่า

  • โอไมครอน KP.2 มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่เชื้อมากกว่า JN.1 ประมาณ 58% หรือ 1.58 เท่า
  • โอไมครอน KP.1.1 มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่เชื้อได้มากกว่า JN.1 ประมาณ 68% หรือ 1.68 เท่า
  • โอไมครอน KP.1.1 มีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่เชื้อได้มากกว่า KP.2 ประมาณ 4 % หรือ 1.04 เท่า

โอไมครอน เทียบอาการ

ทั่วโลกสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) พบโอไมครอน KP.2 จำนวน 1,455 ราย โอไมครอน KP.1.1 จำนวน 307 ราย

ขณะที่สหรัฐ สุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบโอไมครอน KP.2 จำนวน 423 ราย โอไมครอน KP.1.1 จำนวน 108 ราย

โอไมครอน สหรัฐ

ส่วนไทยสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบโอไมครอน KP.2 จำนวน 0 ราย โอไมครอน KP.1.1 จำนวน 1 รายที่จังหวัดสงขลา

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ศูนย์จีโนมฯจะถอดรหสัพนัธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ได้รับมอบจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี ผลจะรีบแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยจะพบโอไมครอน KP.1.1, KP.2, และ KP.3 จำนวนเท่าใดและมีความชุกเท่าไร

อาการของโอไมครอนกลุ่ม FLiRT คล้ายกับสายพันธุ์โอไมครอนตัวอื่น ๆ เช่น เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ และอาจมีการสูญเสียรสชาติและกลิ่น แม้จะแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่พบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต บ่งชี้ว่าแม้จะแพร่เชื้อมากกว่า แต่ไม่ได้ทำให้อาการรุนแรงขึ้น

โอไมครอน กลายพันธุ์

 

เบื้องต้นพบว่ากลุ่ม FLiRT โดยเฉพาะโอไมครอน KP.2 อาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้บ้าง แต่วัคซีนยังคงให้การป้องกันอาการรุนแรงได้ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ปรับปรุงองค์ประกอบแอนติเจนของวัคซีนโควิดให้ตอบสนองต่อสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ เช่น โอไมครอน JN.1 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโอไมครอน FLiRT ได้ดีขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขทั่วโลก เช่น สหรัฐ อินเดีย สิงคโปร์ ฯล แนะนำให้เพิ่มความระมัดระวัง รักษาสุขอนามัย สวมหน้ากากในที่แออัด เว้นระยะห่าง และรับวัคซีนตามกำหนด รวมถึงตรวจหาเชื้อสม่ำเสมอด้วย ATK และอยู่บ้านเมื่อรู้สึกไม่สบาย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เหล่านี้

โอไมครอน สงขลา

ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบสายพันธุ์ FLiRT ในอินเดีย โดยส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในสหรัฐ ในไทยยังไม่พบโอไมครอน KP.2 แต่พบโอไมครอน KP.1.1 จำนวน 1 รายที่สงขลา และ KP.3 (ไม่อยู่ในกลุ่ม FLiRT) จำนวน 2 รายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการแพร่กระจายและผลกระทบของกลุ่มโอไมครอนกลายพันธุ์สายพันธุ์ FLiRT เหล่านี้ทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo