สธ. รับมอบ ‘วัคซีนโควิด’ ไฟเซอร์ไบวาเลนท์ จากเยอรมนี 999,360 โดส คาดกระจายถึงหน่วยบริการสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ หนุนฉีดวัคซีนประจำปี
วันนี้ (22 มิถุนายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
ร่วมทำพิธีรับมอบวัคซีนโควิด 19 ชนิดวัคซีนไบโอเอ็นเทค (ไฟเซอร์) รุ่นไบวาเลนท์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายเก-ออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และ นายฮานส์ อูลริช ซืดเบค อุปทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนส่งมอบ
รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ ไบวาเลนท์ 999,360 โดส
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 160 ปี และมีความร่วมมือครอบคลุมหลายด้านอย่างแน่นแฟ้น เช่น การทูต เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร รวมถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ผ่านโครงการ “เสริมสร้างการประสานงานของอาเซียนเพื่อตอบโต้และรับมือกับการระบาดใหญ่ของโควิด 19 และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ในด้านสาธารณสุข”
โดยเยอรมนีได้สนับสนุนและช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ ยารักษาอาการโควิด 19 โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Casirivimab/Imdevimab) จำนวน 2 พันยูนิต และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 346,100 โดส พร้อมตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำเพื่อจัดเก็บวัคซีน จำนวน 4 ตู้ เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาแบบ Loe Dead Space จำนวนกว่า 5.1 หมื่นชุด ทำให้สามารถนำมาช่วยดูแลประชาชนในช่วงเวลาวิกฤตได้
สำหรับการสนับสนุนประเทศไทยวันนี้เป็นครั้งที่ 3 ได้มอบวัคซีนไบโอเอ็นเทค (ไฟเซอร์) รุ่นไบวาเลนท์ จำนวน 999,360 โดส แสดงถึงน้ำใจที่ยิ่งใหญ่จากมิตรประเทศ ทำให้เรามีความมั่นคงด้านวัคซีนมากขึ้น
โดยจากนี้จะมีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนและกระจายไปยังพื้นที่ เพื่อสนับสนุนนโยบายการฉีดวัคซีนโควิดประจำปีต่อไป คาดว่าจะถึงทุกหน่วยบริการภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะยกเลิกการประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่โรคโควิด 19 ไม่ได้หายไปไหน และยังเป็นโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้แต่ละประเทศจัดบริการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นต้น
ประเทศไทยจึงจัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนประจำปี โดยสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต
อ่านขาวเพิ่มเติม
- สธ.- ก.พ. เห็นชอบ 5 ข้อ ไฟเขียว ‘เพิ่มหมอ’ กว่า 1 หมื่นคน ภายในปี 69 เร่งแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
- กรมการแพทย์ แนะผู้มี 5 โรคประจำตัว เตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำฟัน เพื่อความปลอดภัย
- เฉลยแล้ว ทำไม? ‘ไวรัสโควิด’ จึงส่งผลรุนแรง ต่อ ‘ผู้สูงอายุและกลุ่ม 608’