เฉลยแล้ว ทำไม? “ไวรัสโควิด” จึงส่งผลรุนแรง ต่อผู้สูงอายุและกลุ่ม 608 เผยยาลดการส่งคลอเลสเตอรอลเข้าเซลล์ มีประโยชน์กับผู้ป่วยอาการรุนแรง
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ออกมาในวารสาร JBC อธิบายบทบาทของไขมันคลอเลสเตอรอล ต่อความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสโรคโควิดได้น่าสนใจมากครับ
และอาจสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมโควิดจึงรุนแรงในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวกลุ่ม 608
อาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส
ทีมวิจัยพบว่า การติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ของไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ใช่เพียงแค่ไวรัสไปจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 แล้วจะเข้าสู่เซลล์ได้ทันที ตำแหน่งของ ACE2 บนเซลล์มีความสำคัญ ถ้า ACE2 ไปอยู่บนตำแหน่งบนผิวเซลล์ที่มีชนิดหรือองค์ประกอบของไขมันไม่เหมาะสมการเข้าสู่เซลล์เกิดขึ้นยาก ตำแหน่งบริเวณนั้นเรียกว่า PIP2 cluster
แต่ไขมันในกลุ่มคลอเลสเตอรอล (LDL/HDL) ที่อยู่ในกระแสเลือดสามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งของ ACE2 บนเซลล์ไปอยู่จุดที่เรียกว่า GM1 cluster ตามภาพจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะเกิดการนำอนุภาคไวรัสเข้าสู่เซลล์
คลอเลสเตอรอลมีบทบาทในการย้าย ACE2 ไปอยู่ที่ GM1 เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะหลังการติดเชื้อ แต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในผู้สูงอายุ และ ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีการสะสมของไขมันในเลือด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ดีกว่า ผู้มีไขมันในเลือดในเกณฑ์ปกติ
ที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยพบว่า ยาที่ลดการส่งคลอเลสเตอรอลเข้าเซลล์ หรือ การลดการสร้าง GM1 cluster อาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ไวรัสมีสีหรือไม่? แล้วทำไม ‘ไวรัสโควิด’ จึงมีสีแดง? ศูนย์จีโนมฯ มีคำตอบ
- 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ไฟเซอร์-โมเดอร์นา-โนวาแวกซ์ เตรียมผลิต ‘วัคซีนสายพันธุ์เดียว XBB’ ได้ใช้ปลายปีนี้
- WHO และ US FDA เสนอใช้ ‘XBB’ สายพันธุ์เดียว เป็นต้นแบบผลิต ‘วัคซีนโมโนวาเลนต์’ ให้ทันการระบาดปี 67