COVID-19

ม.มหิดล ค้นพบ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน-ลองโควิด

“ม.มหิดล” ค้นพบ ฟ้าทะลายโจร ลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง อาการลองโควิด “อภัยภูเบศร” พัฒนา สเปรย์พ่นคอ ลดการนำเข้ายานอกราคาแพง

วันนี้ (17 มิ.ย. 2566) มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดงานเสวนา ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรพื้นบ้านจากทางเลือก สู่ทางรอด  ในวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566

ลองโควิด

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ทุกภาค พบขึ้นเองในธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่เคยเป็นอโรคยาศาลา เป็นเมืองโบราณ ซึ่งได้มีการเก็บรวบรวมสายพันธุ์แล้วทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาร่วมกับ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทำการทดลองทางคลินิกในเบื้องต้น พบว่า สเปรย์ฟ้าทะลายโจร มีประสิทธิผลบรรเทาอาการเจ็บคอ อาการกลืนลำบากและอาการไอ ให้ประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากสารสกัดสมุนไพรต่างประเทศ แต่ฟ้าทะลายโจรสามารถลดระยะเวลาการรักษาอาการเจ็บคอและอาการกลืนลำบากได้เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สเปรย์จากสารสกัดฟ้าทะลายโจรของไทย ยังมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์จากสารสกัดต่างประเทศ ที่สำคัญคือเงินตราหมุนเวียนอยู่ในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

อีกเรื่องในการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการในครั้งนี้คือ พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงผลของฟ้าทะลายโจร ที่ลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ จากการศึกษาความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ฟ้าทะลายโจร

ทั้งนี้ การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลังการติดเชื้อโควิด 19 เป็นปัญหาสำคัญที่อาจมีความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะการอุดตันในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด หัวใจ ฯลฯ นำไปสู่ความเสียหายของเนื้อเยื่อของอวัยวะ ทำให้เกิดอาการลองโควิด

การศึกษาโดยอาจารย์จากมหาวิยาลัยมหิดล พบว่า พลาสมาของผู้ป่วยที่กินยาฟ้าทะลายโจร ชนิดผงบดหยาบ ที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน มีโปรตีนที่มีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 ด้วยการลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้

ถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก ถึงฤทธิ์ฟ้าทะลายโจร ในการลดโอกาสการเสียชีวิตจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และความทุกข์ทรมานจากภาวะหลังโควิดได้ ซึ่งยังต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo