COVID-19

ศูนย์จีโนมฯ เผย WHO คลายกังวล ‘XBB’ 4 สายพันธุ์ในจีน อาการไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อพีคสุด 65 ล้านรายต่อสัปดาห์

ศูนย์จีโนมฯ เผย WHO คลายกังวล ‘คลื่นสึนามิ XBB’ 4 สายพันธุ์ในจีน อาการไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อพีคสุด 65 ล้านรายต่อสัปดาห์ ช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า คลายกังวล! คลื่นสึนามิโอมิครอนสี่สายพันธุ์ XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9.1, และ XBB.2.3 (ที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าติดตาม) ระลอกล่าสุดที่พุ่งเข้าสู่ประเทศจีนไม่ได้ก่อความเสียหายรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายประเมิน

แม้องค์การอนามัยโลกจะแถลงว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านราย และผู้เสียชีวิตเกือบ 15,000 รายในช่วง 28 วันที่ผ่านมา (24 เมษายน ถึง 21 พฤษภาคม 2566) แต่ก็มีจำนวนลดลงถึง 21% และ 17% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 28 วันก่อน (27 มีนาคม ถึง 23 เมษายน)

อย่างไรก็ดีองค์การอนามัยโลกยังเตือนว่า อัตราการตายสูงสุดเนื่องจากโควิด-19 ขณะนี้พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศูนย์จีโนมฯ

ทำติดเชืื้อ 65 ล้านรายต่อสัปดาห์ ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.

ในเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีนกำลังเผชิญกับการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยโอมิครอน XBB สี่สายพันธุ์ย่อยคือ XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9.1, และ XBB.2.3

โดยในประเทศจีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2566 และจากการคำนวณคาดว่าจะเกิด “พีค” สูงสุดที่ 65 ล้านรายต่อสัปดาห์ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566

ศูนย์จีโนมฯ

สถานการณ์ทรงตัว และอยู่ภายใต้การควบคุม

รายงานจากปักกิ่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 โดยสำนักข่าวซินหัว – เจ้าหน้าที่ระดับสูง ดร. หวัง ลี่ผิง จากกรมควบคุมโรคของจีน (China CDC) กล่าวว่า

การติดเชื้อโควิด-19 โดยรวมในประเทศจีนมีความชุกเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่แสดงอาการไม่รุนแรง

โดยจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาตามคลินิกและโรงพยาบาล จำนวนโดยรวมยังน้อยกว่าช่วงที่มีการติดเชื้อครั้งก่อนมาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดร. หวัง กล่าวว่าการติดเชื้อที่เกิดจากกลุ่มโควิดโอมิครอนกลุ่มสายพันธุ์ย่อย XBB  จะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่สถานการณ์โดยรวมยังทรงตัวและอยู่ภายใต้การควบคุม โดยมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการดำเนินงานบริการทางการแพทย์และสังคม

ผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคของจีนอีกท่าน ดร. เฉิน เฉา ตั้งข้อสังเกตว่าจากข้อมูลการเฝ้าติดตาม ขณะนี้สายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์เด่นของโควิด-19 ทั้งในการติดเชื้อที่นำเข้าและการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางด้านจีโนมและการทำให้เกิดโรค

ศูนย์จีโนมฯ

การเข้าถึงยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสำเร็จรูป มีความสำคัญ

ดร. เฉิน กล่าวว่าระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าหลายช่องทางของจีนมีประสิทธิภาพสูง  หากตรวจพบสัญญาณความเสี่ยงใดๆจากกลุ่ม XBB  สามารถประสานกับหน่วยงานควบคุมโรคทั่วประเทศให้ออกมาตรการรับมือที่เหมาะสมได้ในทันทีแบบเรียลไทม์

น.พ. หลี่ถงเซิง หัวหน้าแพทย์แผนกโรคระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อของโรงพยาบาล Beijing Youan มหาวิทยาลัย Capital Medical กล่าวว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อซ้ำจะแสดงอาการเล็กน้อยกว่าการติดเชื้อครั้งแรก และจากข้อมูลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ติดเชื้อซ้ำส่วนใหญ่ มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยและสามารถหายไข้ได้เร็วกว่า โดยอาการจะคงอยู่ 3-5 วัน

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนและอาเซียนถูกขับเคลื่อนโดยโอมิครอน XBB สี่สายพันธุ์ย่อยกล่าวคือ XBB.1.5, XBB.1.16, XBB.1.9.1, และ XBB.2.3 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง และในบางคนอาจมีอาการรุนแรงแม้จะเคยได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ดังนั้นการเข้าถึงยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสำเร็จรูปจึงมีความสำคัญในช่วงเวลานี้

ศูนย์จีโนมฯ

โอไมครอน XBB 4 สายพันธุ์ที่ WHO จับตา

ศูนย์จีโนมฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ในฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” พบโอมิครอนลูกผสม XBB ที่หมุนเวียนในประเทศจีนประกอบด้วย XBB.1.9.1(21%), XBB.1.16 (19%), XBB.1.9.1.2 หรือ FL.2 (17%),  XBB.1.5 (7%) และ XBB.2.3*(2%)

ในขณะที่ประเทศไทยมีโอมิครอนลูกผสม XBB ที่หมุนเวียนในประเทศประกอบด้วย XBB.1.16 (16%), XBB.1.9.1(11%), XBB.1.5 (10%), และ XBB.2.3* (1%)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำแนกโอมิครอนทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวดังนี้:

  • โอมิครอน XBB.1.5 กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยที่น่าสนใจ (variant of Interest: VOI)
  • โอมิครอน XBB.1.16 กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยภายใต้การตรวจสอบ (Variant under Monitoring:VUM)
  • โอมิครอน XBB.1.9.1 กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยภายใต้การตรวจสอบ (Variant under Monitoring:VUM)
  • โอมิครอน  XBB.2.3 กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ย่อยภายใต้การตรวจสอบ (Variant under Monitoring:VUM)
  • โดยยังไม่ตัดสินใจอัปเกรดสายพันธุ์ใดขึ้นเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern: VOC)

ศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดี วิเคราะห์ข้อมูลจากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 จากตัวอย่างผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพบว่า

  • โอมิครอน XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า XBB.1.5 ถึง 42 %
  • โอมิครอน XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า XBB.1.9.1 ประมาณ 26 %
  • โอมิครอน XBB.1.9.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า XBB.1.5 ประมาณ 8 %
  • โอมิครอน XBB.2.3 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า XBB.1.5 ประมาณ 8 %

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

Avatar photo