Travel

เช็กเลย! อัตราแลกเปลี่ยน ‘เงินบาท’ เที่ยวที่ไหน ถูกกว่าปีที่แล้ว

ข่าวดีสำหรับขาเที่ยวในต้นปีนี้ คืออันดับหนังสือเดินทางของไทยในดัชนีพาสปอร์ตเฮนลีย์ ขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 63 ด้วยการมีจุดหมายปลายทางที่เดินทางแบบไม่ขอวีซ่าได้ 82 แห่ง 

วีโอเอ ได้รวบรวมอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวในปี 2566 เพื่อหาว่าประเทศไหน ที่คนไทยใช้เงินบาท แลกเป็นสกุลท้องถิ่นได้เยอะกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในจำนวน 10 ประเทศ ที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว

เงินบาท

จากการจัดอันดับของวีซ่า บริษัทบัตรเครดิตชื่อดัง พบว่า ที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เงินบาท สามารถแลกเป็นสกุลเงินท้องถิ่นได้มากกว่าช่วงเดือนมกราคมของปีที่แล้ว โดยในกรณีของญี่ปุ่นนั้น อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 11 มกราคมปีนี้ อยู่ที่ 24.0961 บาทต่อ 100 เยน เทียบกับ 12 มกราคม 2566 ที่ 25.3416 บาทต่อ 100 เยน เท่ากับแลกได้เงินเยนมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 4.9%

หมายความว่า ตั๋วเที่ยวแบบ 1 วันที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์สำหรับผู้ใหญ่ ที่ปัจจุบันราคาสูงสุดอยู่ที่ 10,900 เยน จะใช้เงินไทยอยู่ที่ราว 2,629 บาท เทียบกับ 2,762 บาทในปี 2566  หรือถ้าหากจะเข้าพักในโรงแรมหรูที่สุดในกรุงโตเกียว อย่าง Aman Tokyo ที่ราคาอยู่ที่คืนละราว 400,000 เยน เมื่อเทียบเป็นเงินบาท ก็จะอยู่ที่ราว 96,384 บาท ถูกกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่จะต้องใช้เงินไทย 101,366 บาท

ส่วนค่าเงินวอนของเกาหลีใต้นั้น ใช้เงินไทยแลกได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราว 1.1% แม้ไม่มาก แต่ก็ทำให้การเช่าชุดฮันบกแบบอลังการ เดินเที่ยวพระราชวังเคียงบกกุง ถูกลง 7 บาท และการเข้าพักในโรงแรมหรูอย่างโจซัน พาเลซ ที่ราคาคืนละ 700,000 วอน ถูกลง 210 บาท

ส่วนประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย Top 10 อื่น ๆ อย่างนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง และอิตาลี ค่าเงินไทยกลับอ่อนค่าลงเทียบกับปีที่แล้วที่ราว ๆ 2-10% ส่วนจุดหมายปลายทางในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

เงินบาท

สำหรับตัวอย่างประเทศที่ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางไปได้แบบไม่ต้องขอวีซ่า ได้แก่ มาเลเซีย (1.1%) แอฟริกาใต้ (4.9%) เคนยา (17.7%) ลาว (12.5%) และอาร์เจนตินา (76.4%) ซึ่งรายหลังนั้น มีรายงานข่าวเรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 211.4%

ทั้งนี้ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเงิน อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าครองชีพในแต่ละประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผู้ไปเยือนเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo