Entertainment

‘หมอริท’ วอนหยุดผลักภาระมาให้ แจงชัด #หมอริทช่วยโควิด ไม่เคยเรียกร้องเงินจากรัฐ

อีกหนึ่งคนดังที่ออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “หมอริท-เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช” หลังจากที่เจ้าตัว และทีมแพทย์ รวมถึงจิตอาสา ได้จัดตั้งโครงการ “หมอริทช่วยโควิด” ประกาศช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดแบบ Home Isolation อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยผู้ป่วยติดเชื้อที่รอรับการรักษา และยังเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเชื่อว่า “ยิ่งเร็ว ยิ่งรอด” ยิ่งเข้าถึงการรักษาเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดอัตราการนอนโรงพยาบาล

ล่าสุด หมอริท ได้ออกมาโพสต์ไล่ยาวเรียงเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับบริบทของดครงการ “หมอริทช่วยโควิด” พร้อมวอนภาครัฐหยุดผลักภาระมาให้ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าช่วยได้ดี ทำอะไรเองได้ ก็ผลักมาให้ทำ

“หยุดผลักภาระ เราช่วยท่าน ท่านก็ต้องช่วยในระบบการทำงานด้วย ไม่ใช่เห็นว่าเราช่วยได้ดี ทำอะไรเองได้หมด แล้วก็ผลักมาให้เราทำเลย เดี๋ยวจะมาลิสต์เป็นข้อ ๆ ท่านก็ส่งคนมาอ่านละกัน เสนอไปหมดแล้ว ยังเห็นเงียบ ๆ ก็จะแจ้งให้ประชาชนทราบเลยละกันนะครับ เขาจะได้เข้าใจบริบท #หมอริทช่วยโควิด”

หมอริท

เริ่มนะครับ

1. #หมอริทช่วยโควิด เป็นโครงการอาสา ไม่ได้รับเงินการทำงานจากรัฐเลย โดยเรายินดีช่วยรัฐโดยไม่เรียกร้องเงิน แต่เรียกร้องให้รัฐดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ซึ่งระหว่างที่ท่านเพิ่มกำลังการดูแล เรายินดีช่วยครับ เมื่อไหร่ที่ท่านดูแลทั่วถึง เราจะหยุดครับ

2. ข้อมูล ณ 18/8/64 #หมอริทช่วยโควิด รับเคสใหม่ได้เฉลี่ย 200 เคส/หน่วย/วัน แต่หน่วยงานภายใต้รัฐใน กทม. รับเคสใหม่ได้ 9 เคส/หน่วย/วัน (รวม 240 PCU = 2,000 เคสต่อวัน) ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนเคสรายงานใหม่ต่อวัน โดยมองว่า ถ้าลดการทำงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง จะทำให้รับเคสได้มากขึ้น?

3. แต่โดยรวมแล้ว ภาคประชาสังคม/จิตอาสา (ไม่ใช่เฉพาะ #หมอริทช่วยโควิด ) ได้เข้ามามีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปได้ (ซึ่งท่านทราบสัดส่วนตัวเลขการดูแลเคสอยู่แล้ว ประมาณเกือบครึ่งต่อครึ่ง จริงหรือไม่?)

4. คนไข้ที่ติดต่อผ่านช่องทางของรัฐ ต้องรอการรักษาที่ค่อนข้างนาน ตั้งแต่ 3 วัน – 14 วัน หรือ จนหายแล้ว จริงหรือไม่? (คนที่พบปัญหานี้ สามารถมาช่วยยืนยันได้)

5. รัฐมีหน่วยจ่ายยาฟาวิ โดยจ่ายเป็นคอร์ส 3-5 วัน แล้วไม่ดูแลเคสต่อให้ครบ 14 วัน สุดท้ายคนไข้ตกเป็นภาระของใคร? ที่แน่ๆส่วนนึงก็มา #หมอริทช่วยโควิด แล้วทำเพื่ออะไร? เข้าถึงเคสได้ทั้งทีก็ทำให้จบกระบวนการเลยไหม? ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่?

6. ATK บอกว่าให้เข้าระบบ HI ได้ แต่ถ้าอาการแย่ลง แล้วต้องการเตียง ท่านก็บอกว่าเข้า รพ. ได้เลย แต่ในความเป็นจริง รพ. ไหนรับบ้าง? สุดท้ายก็รอ PCR กันหมดไหม? จะตายแล้วยังรอ PCR? เพราะ รพ. เขามีปัญหาการเบิกไหม? ขอคำสั่งเด็ดขาดและชัดเจนเลยได้ไหม?

7. ดูแลคนไข้ช่วยเหลือกันกับภาครัฐ ท่านมีฐานข้อมูลให้เช็กการดูแลซ้ำซ้อนไหม? ตรงนี้สำคัญนะ ภาษีประชาชนทั้งนั้นนะครับ 1 คนไข้ ต่อ 1 การดูแลก็พอแล้ว

8. ระบบจัดหาเตียงอยู่ไหน? ทีมอาสามีแพทย์มาช่วยดูแล HI ให้แล้ว ประเมินความเสี่ยงให้แล้ว พออาการแย่ลง ต้องการเตียง แล้วยังไง ให้ส่งทางไหน ไปที่ไหน? หน่วยงานไหนรับช่วงต่อ? เบอร์กลางของท่านโทร.ติดจริงๆ หรือไม่?

9. เรื่องเตียง ก็ไม่เพียงพอ อันนี้เข้าใจ รัฐกำลังขยายเพิ่มเตียงอยู่ ก็ต้องจัดคนไข้ไปเอาเตียงตามความรุนแรง เลยต้องให้ออกซิเจนที่บ้านไปก่อน แล้วหน่วยงานไหนดูแลเรื่องออกซิเจนที่บ้าน? ตอนนี้มีแต่ขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาด้วยกัน

10. การประชาสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจ เพียงพอไหม?
– กักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตรวจซ้ำ ไปทำงานได้เลย
– คนไข้ไม่ต้อง xrays ปอดทุกคน
– ยาฟาวิ ทานตามข้อบ่งชี้ ไม่ต้องทานทุกคนก็หายได้ เป็นต้น

11. ภาคแรงงาน นายจ้าง ยังต้องการใบรับรองแพทย์เสมอ มีระบบให้ไหม? เอา ATK/PCR กับชื่อหน่วยงานที่ดูแลไปออกใบรับรองเลยได้ไหม? แค่หมอมาช่วยตรวจยังไม่พอ ยังต้องแบ่งหมอช่วยเขียนใบรับรองแพทย์อีก มันจะทันไหม?

12. ตอนนี้ ภาคประชาสังคม/อาสา สร้างเครือข่ายกันเอง หาเตียง หาออกซิเจน หา PCR หา x-rays หายา หาอาหาร เค้าทำกันเรียบร้อยแล้ว มาดู แล้วขอบคุณและให้เครดิตเขาก็พอ

13.โควิดครั้งนี้ มันคือวิกฤตทุกคนเข้าใจ วันที่รัฐรับมือไม่ไหว ประชาชนพร้อมช่วย แค่ยอมรับในกำลังความสามารถ แล้วช่วยกัน ไม่ต้องอาย ขอบคุณครับ

ปล. ยังไม่รวมเรื่องการจัดการระยะยาว เช่น วัคซีนนะครับ ซึ่งสุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo