Lifestyle

รับสมัครจิตอาสา!!!เข้าโครงการ ‘ธนาคารเวลา’ ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

พม.เริ่มโครงการ “ธนาคารเวลา” กลไกดูแลผู้สูงอายุโดยจิตอาสาในชุมชน นำร่อง  28 จังหวัด ด้านกรุงเทพ ประเดิม “ดินแดง” พร้อมเปิดรับสมัครจิตอาสาทั่วประเทศ 

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดโครงการ “ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม” เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนในพื้นที่ดูแลซึ่งกัน และกัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยรูปแบบของธนาคารเวลา

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเมื่อปี 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 10 % ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ด้วยประชากรผู้สูงอายุ 20 % ในปี 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด ด้วยประชากรผู้สูงอายุถึง28%

พม.ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย และการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 -2564) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกมิติทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และนวัตกรรม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เล็งเห็นความสำคัญของแนวคิด “ธนาคารเวลา” จากต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุให้สอดรับกับบริบท และวัฒนธรรมของสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยมีทุนทางสังคม และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเรื่องการดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการมีจิตอาสาเข้ามาเป็นอาสาสมัครเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ได้กำหนดให้นโยบาย “ธนาคารเวลา” เป็น 1 ใน 10 เรื่องสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระเร่งด่วนในการดำเนินการระหว่างปี 2561 – 2564

S 1753102

นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย ผส. ได้ศึกษาแนวคิดธนาคารเวลาจากต่างประเทศ และนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ซึ่งธนาคารเวลา สำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย คือพื้นที่ที่ให้จิตอาสาเข้ามาแบ่งปันเวลาให้กับการดูแลผู้สูงอายุในสังคม และเวลาที่จิตอาสาได้สะสมไว้จากการดูแลผู้สูงอายุ จะได้รับการดูแลกลับคืน เมื่อจิตอาสามีความต้องการ และจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแล เป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ

สำหรับการดำเนินงานของธนาคารเวลา เริ่มตั้งแต่การลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง การดำเนินงานธนาคารเวลาเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ระหว่าง ผส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่นำร่อง จำนวน 42 แห่ง 28 จังหวัด

ในขณะนี้ พื้นที่นำร่องของ อปท. 42 แห่ง ได้เริ่มดำเนินงานธนาคารเวลาแล้ว โดยจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานธนาคารเวลา และเปิดรับสมัครจิตอาสาเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีจิตอาสาในพื้นที่นำร่อง จำนวน 2,115 คน และมีผู้ลงทะเบียนออนไลน์เป็นจิตอาสาธนาคารเวลา จำนวน 141 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,256 คน

นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผส. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของธนาคารเวลา ภายใต้โครงการ “ออมเวลา จิตอาสาใส่ใจพัฒนาสังคม” วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนในพื้นที่ดูแลซึ่งกันและกัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยรูปแบบของธนาคารเวลา พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับระบบการดูแลผู้สูงอายุ ระบบการให้บริการด้านสวัสดิการผู้สูงอายุให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

S 1753105

ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับทุกคนทุกวัยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 เขตดินแดง กรุงเทพฯ”  เป็นพื้นที่นำร่อง ปัจจุบัน มีผู้อาศัยจำนวนทั้งสิ้น 956 คน มีผู้สูงอายุ 252 คน คนพิการ 12 คน ผู้ป่วยติดเตียง 3 คน และจิตอาสาร่วมโครงการธนาคารเวลา 21 คน

โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การรับส่งเดินทางไปพบแพทย์ การให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือตามความต้องการของผู้สูงอายุ และการช่วยทำความสะอาดภายในห้อง เป็นต้น

“การดำเนินงานธนาคารเวลา ณ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ในครั้งนี้ นับเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานของธนาคารเวลาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งเสริม และสร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขยายผลการดำเนินงานธนาคารเวลาไปยังพื้นที่อื่นต่อไป”

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมเป็นจิตอาสาโครงการธนาคารเวลา โดยลงทะเบียนผ่านทาง www.m-society.go.th และwww.dop.go.th หรือ Facebook : Jitarsabank หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) โทร. 02-642-4306 หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนโทร. 1300

Avatar photo