Lifestyle

ชวนรู้จัก ‘ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ’ อาการทางใจจากความสุขที่ลดลง

หมอเจษฎา ยิ่งวิวัฒนพงษ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ชวนทำความรู้จัก “ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” อาการทางใจจากความสุขที่ลดลง สังเกต และเข้าใจแนวทางรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เรื่องของสุขภาพใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง อารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอาจเปราะบางเป็นพิเศษ จนส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ กลายเป็น ภาวะซึมเศร้า ที่ทำร้ายสุขภาพจิตใจ ซึ่งหากละเลย หรือไม่เข้าใจ อาจส่งผลกระทบต่อความสุขของผู้สูงอายุ และคนรอบข้าง

ภาวะซึมเศร้า

พันเอก นพ.เจษฎา ยิ่งวิวัฒนพงษ์ รองผู้อำนวยการกองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ชวนทำความรู้จักและสังเกตอาการที่สะท้อนความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ก่อนที่ความสามารถในการมี ‘ความสุข’ จะหายไป

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับช่วงวัยต่าง ๆ โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ โดยมี 2 ปัจจัยหลักของการเกิดโรคซึมเศร้า ดังนี้

1. ปัจจัยภายใน
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง เช่น ความจำแย่ลง สายตาแย่ลง การได้ยินลดลง รวมถึงมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น
โรคทางกายต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคสมองเสื่อม ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในการรักษาที่ยืดเยื้อ ยุ่งยาก เจ็บตัว มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งบางครั้งผลการรักษาก็ไม่หายขาด ผู้สูงอายุจึงไม่ยอมร่วมมือในการรักษา ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ทนทุกข์ทรมาน มีคุณภาพชีวิตแย่ลง และเกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ผู้สูงอายุจะมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจ เกิดขึ้นจากความเสื่อมของสมองและระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเหมือนเดิม รวมถึงการเผชิญกับความสูญเสียและการพลัดพรากของคู่ชีวิต ญาติสนิทหรือเพื่อนฝูง จนกลายเป็นความเหงา ขาดที่พึ่งทางใจ

2. ปัจจัยภายนอก
ครอบครัว เมื่อลูกหลานต้องออกไปทำงาน ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว ทำให้ผู้สูงอายุเหงา รู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ สังคม การมีบทบาททางสังคมลดลง ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียความมั่นคงในชีวิต รู้สึกว่าหมดความสำคัญในสังคม อยู่ในสภาวะที่ไร้คุณค่า สูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกว่าเริ่มเป็นภาระของครอบครัว นอกจากนี้ อาจไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง เมื่อเกษียณอายุ หรือเดินทางไม่สะดวก เพราะปัญหาทางสุขภาพ

เทคโนโลยี การเข้ามาของโลกดิจิทัลก็อาจทำให้ผู้สูงอายุบางรายตามไม่ทัน ขาดการติดต่อพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือลูกหลาน รวมถึงผู้สูงอายุอาจมีความสามารถในการใช้สื่อเทคโนโลยีและการรู้เท่าทันภัยจากเทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงพอ สะท้อนการเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงได้ง่าย

6 ข้อสังเกตเมื่อผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้สูงอายุเข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้าแล้วหรือไม่ หากพบว่าผู้สูงอายุหรือคุณพ่อคุณแม่ มีอาการดังต่อไปนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ ก็มีโอกาสว่าอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ โดยอาการที่เข้าข่ายซึมเศร้า มีดังนี้

ภาวะซึมเศร้า

1. การรับประทานอาหารผิดปกติ อาจจะรับประทานมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไม่สบายใจก็ยิ่งรับประทานมาก หรือบางคนก็ตรงข้าม คือ รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร ซูบผอม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปัญหาทางร่างกาย บางคนมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. การนอนที่ผิดปกติ อาจนอนหลับมากกว่าปกติ มีอาการง่วง ซึม อยากนอนตลอดเวลา บางคนก็ตรงข้ามคือ นอนไม่หลับ ตกใจตื่นตอนดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ หรือฝันร้ายติดต่อกันบ่อย ๆ

3. ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา ความสนใจสิ่งต่าง ๆ ลดลงมาก หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเกือบทุกวัน เบื่อหน่ายมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ รวมทั้งไม่สนใจที่จะดูแลตัวเอง

4. นิ่ง พูดคุยน้อย ไม่อยากพูดคุยกับใคร ผู้สูงอายุนิ่งไม่ค่อยตอบสนอง ลูกหลานคุยด้วยก็ไม่สนใจ

5. อารมณ์เปลี่ยนไป บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดบ่อยขึ้น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ช่างพูด ช่างคุย ก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว ไม่พูดไม่จา บางคนอาจเคยพูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิมจนสังเกตเห็นได้ และสร้างความลำบากใจให้กับคนรอบข้าง

ภาวะซึมเศร้า

6. รู้สึกตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายกับชีวิต บ่นว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน รู้สึกผิดมากกว่าปกติ และอาจร้ายแรงถึงมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้

แนวทางการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เนื่องจากสาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้น เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ถ้าสาเหตุมาจากภาวะทางจิตเวชโดยตรง ต้องปรึกษาแพทย์ทางจิตเวชในการดูแลรักษา โดยการใช้ยาทางจิตเวชในการควบคุมเป็นหลัก

แต่หากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจ สังคม สภาพแวดล้อม ประสบการณ์การสูญเสีย การรักษานั้นอาจให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยให้คำปรึกษา บำบัดจิต ปรับวิธีคิด และปรับทัศนคติทางลบให้ดีขึ้น จะช่วยเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่เข้ามามากขึ้น รวมทั้งอาศัยการปรับตัวของลูกหลาน คนในครอบครัว คนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ทิ้งผู้สูงอายุไว้ตามลำพัง ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ

ในมุมองของพันเอก นพ.เจษฎา มองว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวของผู้สูงอายุเองต้องมีสิ่งที่สร้างความสุขให้ตัวเอง ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข มีความภาคภูมิใจในชีวิต หรือช่วยเติมพลังให้กับตัวเอง เพราะแม้ว่ายาช่วยได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่ตัวเราต้องปรับเปลี่ยน mindset หาคุณค่าในตัวเองให้เจอ เพียงเท่านี้ก็จะพิชิตโรคซึมเศร้าได้อย่างแน่นอน”

เรียบเรียงโดย : พันเอก นพ.เจษฎา ยิ่งวิวัฒนพงษ์
รองผู้อำนวยการกองจิตเวชและประสาทวิทยา
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ขอบคุณ: ข้อมูล Gen ยัง Active 

เอกสารอ้างอิง :
ซึมเศร้าในผู้สูงวัยอันตรายกว่าที่คิด. (2020, September 9). Samitivejhospitals.com. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight