Lifestyle

อิทธิพลโซเชียลมีเดีย กับสังคมไทยในปัจุบัน

อิทธิพลโซเชียลมีเดีย กับสังคมไทยในปัจุบัน วัยกลางคน-สูงอายุ ติดโซเชียลมากขึ้น เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว เพราะช่วยสร้างความสะดวกสบายในด้านต่างๆ มากมาย จากเดิม ที่ข้อมูลข่าวสารมักถูกเผยแพร่ผ่านองค์กร ที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน (Mass Media) แต่ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ไปจนถึงบุคคลทั้งที่มีชื่อเสียงและคนทั่วไปสามารถสื่อสารกันเองได้โดยตรง

โซเชียลมีเดีย

หากย้อนกลับไปในอดีต สื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือโทรทัศน์ ซึ่งทุกบ้านจะต้องมีมากกว่า 1 เครื่อง แต่หลังจาก Social Media ได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมโลก เป็นอย่างมาก คนติดหน้าจอมากยิ่งขึ้น คำว่า “Phubbing” ที่หมายถึง “สังคมก้มหน้า” ก็เกิดขึ้นทันที ลดทอนความสำคัญของผู้คนที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างชัดเจน และให้ความสนใจผู้คนที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย มากขึ้น

จึงทำให้เห็นว่าโซเชียลมีเดีย มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน ในสังคมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ มีการยึดติดในเรื่องความมั่นใจในตัวเอง ความภาคภูมิใจในตัวเอง และการยอมรับจากสังคมผ่านทางโซเชียลมีเดีย นั่นสะท้อนให้เห็นว่าในโลกแห่งเทคโลยีทำให้คนเราขาดการเล่นอินเทอร์เน็ตไม่ได้ หากใช้ให้ถูกทางก็จะก่อประโยชน์อย่างมากมาย แต่ถ้าหากใช้ในทางที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน

เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

  • มีปฏิสัมพันธ์ลดลง บางเวลาควรวางโทรศัพท์ เพื่อสื่อสารกับคนตรงหน้ามากกว่า
  • เรียกร้องความสนใจ เช่น ต้องการจำนวน Like มากขึ้น จากการโพสต์
  • ไขว้เขวจากเป้าหมาย เพราะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเล่นโซเชียลทั้งวัน
  • ความสัมพันธ์ล้มเหลว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความหึงหวง ไม่ไว้ใจกัน และสิ้นสุดความสัมพันธ์
  • เจอนักเลงคีย์บอร์ด คำหยาบคาย คำด่า คำตำหนิต่างๆ
  • เกิดทุกข์กับการเปรียบเทียบ เกิดการเปรียบเทียบชีวิตหรือเรื่องราวของตนเองกับเพื่อนที่เจอบนโลกออนไลน์
  • นอนหลับยากขึ้น ส่งผลกระทบกับการนอนหลับ แนะนำไม่ควรเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ตก่อนนอน
  • ไม่มีความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่โพสต์อาจถูกค้นหาและจะคงอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตตลอดไป

shutterstock 1338120284

วัยกลางคน-สูงอายุ ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

คนไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 61.2 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน จาก 47.5 ล้านคน ขยายตัวจากปี 2562 (67%) ขึ้นมาอยู่ที่ 85% ในปี 2566 โดยมีแรงผลักดันทั้งจากการดำเนินงานของผู้ให้บริการและการส่งเสริมของภาครัฐ

โดย เฟซบุ๊ก (Facebook) (93%) และ ไลน์ (Line) (88%) ยังคงเป็น โซเชียล มีเดีย ยอดนิยมของคนไทย ส่วน ติ๊กต้อก (Tiktok) เริ่มมาแรงใน 1-2 ปีหลัง เพิ่มจากปี 2563 สัดส่วน 36% มาอยู่ที่เกือบ 80% ใน 2 ปีหลังสุด ขณะเดียวกันผู้ใช้ โซเชียล มีเดีย ในช่วงอายุ 34-44 ปี 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป โดยเว็บไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าชมมากที่สุด 3 อันดับแรก

กูเกิล (Google) มีการเข้าชมสูงเกือบ 900 ล้านครั้งต่อเดือน โดยใช้ระยะเวลาการเข้าชมต่อครั้งที่เกือบ 11 นาที และมีการเข้าชมเฉลี่ยที่ 8.4 หน้าต่อครั้ง

ยูทูบ (Youtube) และ เฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มีผู้เข้าชมเดือนละ 400-500 ล้านครั้ง ซึ่งโซเชียลมีเดีย ยอดนิยมในการดูวีดีโออย่างยูทูบ มีระยะเวลาการเข้าชมเฉลี่ยสูงกว่า 24 นาทีต่อครั้ง และมีจำนวนหน้าในการชมเฉลี่ยถึง 13.5 หน้าต่อครั้ง

shutterstock 1809734248

จากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล 18.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 5.7

ติดโซเชียล เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ

เมื่อเข้าถึงโซเชียลง่ายขึ้น ภัยคุกคามที่มาพร้อมกับประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลนี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีความเสี่ยงสูงกับผู้สูงอายุบางกลุ่มที่รู้ไม่เท่าทันสื่อออนไลน์ จากสถิติการประสบภัยจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล พบว่ามีผู้สูงอายุที่เคยประสบภัยจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากถึงร้อยละ 49.7 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกหลอกหรือถูกรบกวนโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากที่สุด ร้อยละ 44.2

รองลงมาคือ ได้รับข่าวปลอม (fake news) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ข่าวสร้างความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง สร้างความสับสน ตื่นตระหนกให้ประชาชน ร้อยละ 19.5 และถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์ เช่น สั่งซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ ซื้อของแล้วได้ของไม่เป็นไปตามรูปแบบที่สั่ง ร้อยละ 8.1

ยิ่งผู้คนนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากเท่าใด ย่อมเปิดช่องทางหรือโอกาสให้มิจฉาชีพ ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีแฝงตัวเข้าไปล่อลวง แสวงหาประโยชน์ หรือกระทำในสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้น ดังนั้นควรมีสติทุกครั้งในการเสพสื่อข่าวต่าง ๆ

ที่มาKrungthai COMPASS  ,สสส. ,สำนักงานสถิติแห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo