Lifestyle

เช็ก 10 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ‘วัณโรค’ อาการแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์

เช็ก 10 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ “วัณโรค” อาการแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์ รู้เร็ว รักษาหาย

จากกรณีนักร้องเสียงดี “จั๊ก-ชวิน จิตรสมบูรณ์” อดีตวง Double U  ได้โพสต์ภาพแอดมิทโรงพยาบาล มีสายออกซิเจนสวมใส่ที่จมูก และภาพเอ็กซ์เรย์ปอดทั้งสองข้าง พร้อมระบุข้อความว่า “บางทีมันก็มีเหตุผลให้เราเจริญมรณานุสติมาตลอดหลายปีนี้ เพื่อนสนิทของเราคนหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรควัณโรคเมื่อต้นปีนี้ เป็นคนที่เราดูแลกันมาตลอด 10 กว่าปี เราคลุกคลีกันมานานจนคุณหมอบอกว่าคุณได้รับเชื้อจากเพี่อนแน่นอน

กลุ่มเสี่ยง

แต่ว่าเชื้อนั้นอาจใช้เวลาเพาะเป็นปีหรือ 10 ถึง 20 ปีก็ได้ สรุปคือวัณโรครับประทานปอด ยังดีที่รู้เร็ว ก็ รักษากันไป น่าจะได้นอนอยู่โรงบาลหลายวันแคนเซิลงานไปแล้วบางส่วน ส่วนเพื่อนเพื่อนพี่น้องที่จะมาเยี่ยมกรุณาใส่หน้ากาก N95 เท่านั้นนะครับ #จั๊กชวิน #ระนะจั๊ก_รักนะจ๊ะ”

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั่วโลกและประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกให้ประเทศไทยติดอันดับใน 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงสุดในโลก โดยคาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณ 103,000 รายต่อปี และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี และประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทย ติดเชื้อวัณโรคแล้ว

281065 11

สำหรับวัณโรคนั้น เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่แพร่เชื้อจากผู้ป่วยจากการไอ จาม พูดคุย หรือร้องเพลง คนที่ได้รับเชื้อจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค เมื่อป่วยก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัว แต่เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะสามารถรักษาหายได้ โดยกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ประมาณ 6 เดือน ซึ่งต้องรีบตรวจหา หรือวินิจฉัยให้เร็ว เมื่อมีอาการผิดปกติ

โดยให้สังเกตอาการของวัณโรค โดยเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด และที่สำคัญ เมื่อเรารู้ว่าเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ให้รีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุด ณ โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐานต่อไป

สัญญาณเตือนวัณโรค

  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ในระยะแรกจะมีอาการไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะ และไอมากยิ่งขึ้นเวลาเข้านอน ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหาร อาการไอเรื้อรังอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือน
  • ผู้ที่เป็นมาก ๆ อาจจะจะไอแล้วมีอาการหอบร่วมด้วย หรือไอแล้วมีก้อนเลือดสีดำ หรือแดงออกมา
  • บางรายอาจมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก แต่ไม่มีอาการไอ กรณีนี้มักจะเกิดจากการตรวจพบโดยบังเอิญ จากการเห็นจุดในปอดด้วยการเอกซ์เรย์ปอด

ข้อสังเกตที่ต้องระวัง : มีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการไอและมีเสมหะปนเลือด ควรรีบพบแพทย์

shutterstock 1929325916

10 กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป

  1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม
  2. ผู้ป่วยเบาหวาน
  3. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
  4. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  5. ผู้ต้องขังหรือผู้อาศัยในสถานคุ้มครองและคนพิการ
  6. ผู้ใช้สารเสพติด
  7. ผู้ติดสุราเรื้อรัง
  8. บุคลากรสาธารณสุข
  9. กลุ่มแรงงานข้ามชาติ
  10. กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค

ขั้นตอนของการรักษา 

  • ให้ยารักษาวัณโรคใช้เวลาในการรักษา 6 – 8 เดือน กินยาจนครบไม่หยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยาควรรีบปรึกษาแพทย์
  • ให้การรักษาไปตามอาการเช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาบำรุงโลหิต (ถ้าซีด) วิตามินรวม (ถ้าเบื่ออาหาร) เป็นต้น
  • แพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจเสมหะเป็นระยะ

ถึงแม้วัณโรคจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญในการรักษาคือ รักษาให้หายขาดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อ และป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มีบ้างแต่น้อย เช่น รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคเฉพาะตำแหน่ง หรือรับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียงสูง การป้องกันวันโรคทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อสุขภาพ และความปลอดภัยของทุก ๆ คน

ภาพถ่ายหน้าจอ 2566 09 15 เวลา 08.56.09

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลวิชัยเวช ,โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo