อย. สุ่มตรวจคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน หวังให้คนไทยได้รับไอโอดีนที่เพียงพอและเหมาะสม ช่วยลดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย โดยเฝ้าระวังเกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่เสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันพบเกลือบริโภคมากกว่า 90% มีคุณภาพมาตรฐานและปริมาณไอโอดีนสอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งผ่านคุณภาพมาตรฐานมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อย. ร่วมกับภาครัฐ อาทิ กรมอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังปริมาณไอโอดีน ในเกลือบริโภคที่เสริมไอโอดีน ทั้งสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และในครัวเรือน
ขณะเดียวกันได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ ชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนทั้งสามภาค (ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ) ผู้ประกอบการอาหาร ในการควบคุมคุณภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนของแต่ละห้องปฏิบัติการในประเทศไทยให้มีความแม่นยำ แม่นตรง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป้าหมายสำคัญคือ มุ่งหวังให้คนไทยได้รับไอโอดีนเพียงพอและเหมาะสม
สำหรับปริมาณไอโอดีนที่ต้องการต่อวัน สำหรับทารกและเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ประมาณ 90 ไมโครกรัม เด็กอายุ 6-12 ปี ประมาณ 120 ไมโครกรัม ผู้ใหญ่ทั่วไป ประมาณ 150 ไมโครกรัม และหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ และใช้เกลือเสริมไอโอดีน โดยดูได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า เสริมไอโอดีน ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลข อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการตรวจสอบทั้งสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ผวาหนัก! ‘เกาหลีใต้’ แห่กักตุน ‘เกลือทะเล’ จนขาดตลาด ก่อนญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล
- ครั้งแรก!! กำหนดราคาขั้นต่ำซื้อขาย ‘เกลือทะเล’ วางแนวทาง BCG โมเดล พัฒนานาเกลือ
- อย. เตือน รีวิวผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนโฆษณา