Lifestyle

7 อันตราย จาก ‘สเตียรอยด์’ ตายไว ร่างกายพัง

7 อันตราย จากสเตียรอยด์” ตายไว ร่างกายพัง หนัดสุดช็อกหมดสติ เสียชีวิต

สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างมาจากต่อมหมวกไตชั้นนอก (Adrenal cortex steroids) สำหรับใช้ในทางการแพทย์นั้น เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง และต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ซึ่งยา กลุ่มสเตียรอยด์สามารถแบ่งตามรูปแบบของการใช้ยาได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

สเตียรอยด์

1. สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอก

  • ยาทา (ทั้งในรูปครีม โลชั่น ขึ้ผึ้ง) สำหรับรักษาผื่นแพ้ ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา ยาหยอดหู สำหรับรักษาภูมิแพ้หรืออักเสบที่ตาและหู
  • ยาพ่นจมูก สำหรับรักษาโรคภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก ริดสีดวงจมูก
  • ยาพ่นคอ สำหรับรักษาโรคหืด ภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการหอบ

2. สเตียรอยด์ประเภทกินและฉีด

การรักษาโรคหรือภาวะบางอย่าง จำเป็นต้องใช้ยากินหรือยาฉีดเท่านั้น เช่น อาการแพ้บางชนิด โรคหืดชนิดรุนแรง โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน ผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า “สเตียรอยด์” เป็นตัวยาสำคัญ มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย และนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง แต่หลายต่อหลายครั้ง เรามักได้ยินเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ยาซึ่งมีสเตรียรอยด์เป็นส่วนผสม นั่นอาจเป็นเพราะการใช้ยาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่อยู่ในการควบคุมของแพทย์หรือเภสัชกร และหากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมาได้

อันตรายของสเตียรอยด์

สเตียรอยด์

1.ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

กดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย แขน ขา นิ้วมือ ทำให้แผลหายช้า บางรายแผลลุกลามทั่วร่างกายจนเกิดการติดเชื้อเข้าในกระแสเลือด และบางทีสเตียรอยด์อาจปิดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ กว่าจะตรวจพบ เชื้อโรคก็ลุกลามรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิต

2.กระดูกพรุน

ทำให้กระดูกพรุน แตกหักง่าย ดังนั้น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไขกระดูก ผู้อยู่ในวัยทอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรตรวจภาวะกระดูกพรุนหรือปรึกษาหมอก่อนใช้ยา

3.ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ จะมีระดับน้ำตาลสูง

4.กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ทำให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อบริเวณแขน และขาไม่มีแรง จึงปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาจหยุดเต้นได้

5.อารมณ์แปรปรวน

ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย การใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูง จะทำให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จึงทำให้ผู้ใช้ชอบใช้จนติดยา แต่ใช้ไปนาน ๆ อาจพบอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากยาตามมาได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ หงุดหงิด เป็นต้น

6.เลือดออกทางเดินอาหาร

ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน

7.อาจช็อกหมดสติ เสียชีวิต

เมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานานร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่เคยสร้างเอง ดังนั้นเมื่อผู้ใช้หยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ดังนั้นหากสงสัยว่ากินสเตียรอยด์จากการซื้อมาเอง ไม่ใช่การรักษาโดยหมอ อย่าหยุดยาเอง ขอให้รีบไปปรึกษาหมอให้เร็วเพื่อหาทางลดยา

ขอบคุณข้อมูล แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo