Lifestyle

เช็ก 9 นิสัย เสี่ยงเป็นโรควิตกกังวล

เช็ก 9 นิสัย เสี่ยงเป็นโรควิตกกังวล หากปล่อยไว้นานจนถึงขั้นรุนแรง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ความกังวลใจอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่หากเริ่มมีอาการที่แปลกไปจากความกังวลทั่วไป วิตกกังวลเกินเหตุ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรหันมาเช็กตัวเองว่า มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ เพราะโรควิตกกังวลนอกจากจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตแล้ว หากปล่อยไว้นานจนถึงขั้นรุนแรง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

โรควิตกกังวล

หลายคนอาจมีนิสัยที่ทำบ่อยโดยไม่รู้ตัว เวลาเครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งนิสัยเหล่านั้นอาจนำพาให้เป็นโรควิตกกังวลในอนาคตได้ มาดูกันดีกว่าว่านิสัยอะไรบ้างที่อาจเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวล

1.ชอบผัดวันประกันพรุ่ง

  • รู้สึกว่ารับมือกับเรื่องที่จะเจอไม่ได้ จนต้องผัดวันประกันพรุ่งบ่อย ๆ นิสัยนี้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิม

2.กินเยอะเพื่อดับอารมณ์

  • ปกติอาการวิตกกังวลส่งผลต่อท้องได้ บางคนอาจมีอาการอาเจียน และบางคนอาจกินเยอะมากเกินไป

3.ยกเลิกแผนการต่าง ๆ บ่อย

  • โดนว่าเป็นประจำเรื่องเป็นคนโลเล เพราะอาจจะมาจากอาการวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว

4.ติดมือถือมาก

  • เพราะวิตกกังวลจึงพยายามเสพสื่อเพื่อให้ผ่อนคลาย จนทำให้เสียเวลาทำสิ่งอื่นไปเยอะ

5.สูบบุหรี่

  • เป็นหนึ่งในกลไกของการรับมืออาการวิตกกังวลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก

6.หงุดหงิดจนต้องระบายอารมณ์

  • หงุดหงิดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำจนต้องหาที่ระบายอารมณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น

7.มีปัญหาผิว หนัง เล็บ

  • แกะ แทะ ดึง ทั้งเล็บและผิวหนัง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของคนที่กำลังวิตกกังวล

8.ขังตัวเองอยู่แต่บ้าน

  • ชอบหมกตัวอยู่แต่ในห้องและอยู่แต่กับความคิดของตัวเอง จนอาจส่งผลให้อาการวิตกกังวลรุนแรงมากขึ้น

9.ปิดกั้นตัวเองจากทุกสิ่ง

  • ปิดตัวเองจากการสื่อสารหรือพบปะคนอื่น ๆ รู้สึกร่างกายไร้พลังงาน ทั้งสองสาเหตุล้วนมีที่จากการวิตกกังวล

shutterstock 1409500496

โรควิตกกังวลมีกี่ประเภท?

โรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้

1.โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD)

ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป หรือ GAD มักมีความกังวลเกินเหตุ และมักระแวงตลอดเวลาว่าจะเกิดอันตรายต่างๆ โดยไม่สามารถหยุดคิดได้ เช่น เรื่องงาน การเรียน สุขภาพ การเงิน ความปลอดภัย ตลอดจนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แม้ว่าผู้ที่มีอาการจะรู้ตัว แต่ก็ไม่สามารถหยุดคิดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน 

2. โรคแพนิค (Panic Disorder: PD)

ผู้ที่เป็นโรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ทำงานผิดปกติ ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง หรือมีความวิตกกังวลอย่างไม่มีสาเหตุเป็นระยะๆ และอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ใจเต้นเร็ว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นต้น

3. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD)

ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมาในบางเรื่อง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองต่อความคิดนั้นซ้ำๆ 

4. โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)

ผู้ที่เป็นโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง หรือที่เรามักเรียกทับศัพท์กันว่าโฟเบีย จะมีอาการกลัวอย่างมากเกี่ยวกับของบางสิ่ง สถานการณ์ หรือกิจกรรมบางอย่าง และอาจกลัวมากกว่า 1 อย่างก็เป็นได้ โดยสามารถแบ่งประเภทของโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงออกได้อีกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ

  • โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีความกลัวที่พบได้ทั่วไป และมักพบได้บ่อย เช่น กลัวเลือด กลัวงู กลัวของมีคม กลัวความสูง กลัวความมืด เป็นต้น
  • โรคกลัวที่ชุมชน หรือ โรคอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะกลัวการตกอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่คิดว่าจะทำให้ตนเองลำบาก เป็นที่ที่หนีไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถหาความช่วยเหลือได้ หรือเป็นที่ที่ทำให้อับอาย หรือหวาดกลัวได้ เช่น กลัวที่แคบ กลัวลิฟท์ กลัวห้องที่ไม่มีหน้าต่าง กลัวที่ชุมชนที่มีคนเบียดเสียดแออัด กลัวการขึ้นเครื่องบิน กลัวการนั่งรถตู้ด้านใน เป็นต้น
  • โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกกลัวเมื่อคิดว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าสายตา หรือยู่ในความสนใจของผู้อื่น เช่น การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การพูดรายงานหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม การพูดผ่านไมโครโฟน เป็นต้น

5. โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)

ผู้ที่เป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง มักมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น สงคราม การฆาตกรรม การเผชิญกับภาวะเฉียดตาย หรือการสูญเสียคนในครอบครัว เป็นต้น และอาจเกิดความกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีก หรือมักคิดถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง 

หากรู้สึกว่าตัวเองตรงกับหลายข้อที่กล่าวไป การเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิก อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ง่ายมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูล ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทยAnti-Fake News Center Thailand

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo