Lifestyle

เช็กอาการ ‘มะเร็งตา’ ในเด็กเล็ก เจอเร็วหายได้

เช็กอาการ “มะเร็งตา” ในเด็กเล็ก เจอเร็วหายได้ มีอาการตาวาวหรือมองเห็นผิดปกติ รีบพบจักษุแพทย์ทันที

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) พบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 18,000 – 20,000 ขณะที่เพศหญิงและเพศชายพบได้ใกล้เคียงปริมาณเท่าๆ กัน อาจจะเป็นในตาข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ตา โดยที่ไม่ได้เป็นการกระจายจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง และอาจพบที่ต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมอยู่ภายในใจกลางสมองร่วมด้วย สามารถแบ่งชนิดตามการเกิดได้เป็น 2 กลุ่ม

มะเร็งตา

1. ชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้ถึงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วย โดยสามารถเป็นได้ทั้งสองตาและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ตรวจพบและวินิจฉัยโรคได้ค่อนข้างเร็ว คือประมาณ 12 เดือน

2. ชนิดที่ไม่ถ่ายทอดไปยังลูกหลาน พบได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยมักพบเป็นในตาเพียงข้างเดียวหรือตำแหน่งเดียวในจอตา

นอกจากนี้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่นจะน้อยกว่าชนิดแรก อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ตรวจพบและวินิจฉัยโรคมักจะช้ากว่าชนิดแรก คือ ประมาณ 24 เดือน

อาการบ่งชี้โรคมะเร็งจอตาในเด็ก

1.การตรวจพบรูม่านตาเป็นสีขาว ซึ่งเกิดจากแสงที่สะท้อนจากก้อนมะเร็งจอตา เป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุด โดยพบถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยจะมีลักษณะตาวาว สีขาวๆ กลางตาดำ

2.ภาวะตาเหล่พบได้เป็นอันดับรองลงมา ประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์

3.ตาอักเสบตาแดง ม่านตา 2 ข้างสีไม่เหมือนกัน เกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยมากผิดปกติที่ม่านตา หรือมีเลือดออกในช่องหน้าม่านตา หรือต้อหิน เป็นต้น

4.ปวดตาและมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆลูกตา

5.อาการอื่นๆ ในรายที่มีการกระจายของมะเร็งไปนอกลูกตา เช่น ตาโปน เนื่องจากก้อนมะเร็งลามออกมาในเบ้าตา ผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองอาจมีอาการ ชัก หรือแขน ขาอ่อนแรง หากมีการกระจายไปที่กระดูก อาจคลำก้อนได้ที่ศีรษะหรือลำตัว ถ้ามีการกระจายไปที่ตับอาจคลำก้อนได้ในช่องท้อง เป็นต้น

6.ลูกตาฝ่อ แม้ว่าพบได้น้อยเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วทำให้ขาดเลือดมาเลี้ยงที่ก้อนและเมื่อเซลล์มะเร็งตายจะปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบเป็นผลให้ลูกตาฝ่อ

ทั้งนี้หากเด็กมีอาการตาวาวหรือมองเห็นผิดปกติ รีบพบจักษุแพทย์ทันทีโดยหากตรวจพบในระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายได้ โดยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันถ้าคนไข้มาพบแพทย์เร็วอาจเก็บลูกตาไว้ได้ ไม่ต้องควักออก รักษาโดยการฉายเลเซอร์ จี้ตาด้วยความเย็นหรือให้เคมีบำบัดตรงบริเวณก้อน

ขอบคุณข้อมูล : ภาควิชาจักษุวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.พญ.ละอองศรี อัชชะนียะสกุล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo