Environmental Sustainability

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย ศักยภาพมหาศาลจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน จากข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 มีจำนวนประชากร อยู่ที่ 32.4 ล้านคน เป็นประเทศเศรษฐกิจแบบตลาดอุตสาหกรรมใหม่ เปลี่ยนแปลงจากการทำเหมืองแร่ และเกษตรกรรม ไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายภาคตั้งแต่ปี 2513

ปัจจุบันมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ของประเทศ จากข้อมูลของกรมสถิติมาเลเซียในปี 2560 โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP สูงถึง 10.14 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและไทย และมีรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 312,852 บาท เป็นอันดับ 3 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์และบรูไน

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย

ในปี 2560 มาเลเซียพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในสัดส่วนค่อนข้างมาก จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด 34,183 เมกะวัตต์ เนื่องจากมาเลเซียมีแหล่งพลังงานจากฟอสซิลเป็นของตัวเอง ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงถ่านหิน

กำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจำแนกตามเชื้อเพลิง เป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 15,041 เมกะวัตต์ คิดเป็น 44% ถ่านหิน 10,597 เมกะวัตต์ คิดเป็น 31% พลังน้ำ 6,153 เมกะวัตต์ คิดเป็น 18% น้ำมัน 1,367 เมกะวัตต์ คิดเป็น 4% และพลังงานหมุนเวียนรวมถึงพลังงานชีวมวล 1,025 เมกะวัตต์ คิดเป็น 3%

อย่างไรก็ตาม การผลิตกระแสไฟฟ้ารวมของประเทศอยู่ที่ 160,643 กิกะวัตต์ชั่วโมง กำลังการผลิตหลัก ยังคงได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ 69,076 กิกะวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 43% โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ 62,651กิกะวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 39% โดย 2 เชื้อเพลิงหลักมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 82%

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย

ในขณะที่แหล่งพลังงานรวมของประเทศมีทั้งหมด 91,348 Ktoe โดยมีเชื้อเพลิงหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ให้พลังงานที่ 34,218 Ktoe น้ำมัน ให้พลังงานที่ 29,412 Ktoe และถ่านหิน ให้พลังงานที่ 20,771 Ktoe

ดังนั้นมาเลเซียกำลังเผชิญความท้าทายในการหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ และกำลังพิจารณาลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า 9% ในปี 2563 ก่อนเพิ่มเป็น 20% ในปี 2578

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในประเทศมาเลเซีย

ในปี 2560 มาเลเซีย มีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 7,224 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังน้ำ 6,141 เมกะวัตต์ คิดเป็น 85% พลังงานชีวมวล 722 เมกะวัตต์ คิดเป็น 10% และพลังงานแสงอาทิตย์ 361 เมกะวัตต์ คิดเป็น 5%

ในปี 2561 มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 28,250 กิกะวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 17.58% ของการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมของประเทศ โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสูงที่สุดถึง 26,325 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 93.19% รองลงมาคือจากพลังงานชีวมวล 840 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 2.97% จากพลังงานแสงอาทิตย์ 573 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 2.03% จากก๊าซชีวภาพ 512 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ 1.81%

ยุทธศาสตร์ชีวมวลแห่งชาติ 2020 ของมาเลเซีย เป็นการสานต่อแนวคิดริเริ่มเมื่อปี 2554 ที่ประเมินว่าจะมีรายได้มากขึ้น จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันได้อย่างไร เนื่องจากมาเลเซียมีเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมปาล์มจำนวนมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับชีวมวลประเภทอื่น

รัฐบาลได้หารือกับภาคเอกชน สถาบันวิจัยและนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ แม้ตอนแรกยุทธศาสตร์นี้เน้นที่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน แต่ต่อมาได้ขยายให้ครอบคลุมแหล่งชีวมวลอื่น ๆ รวมถึงยางพารา ไม้ และแกลบ

มาเลเซียมีชีวมวลหรือสารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ อย่างน้อยปีละ 168 ล้านตัน ไม่ว่าจะเป็นไม้ เศษเหลือทิ้งจากปาล์มน้ำมัน แกลบ ใยต้นมะพร้าว ขยะชุมชน หรือกากชานอ้อย ความที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีโอกาสมหาศาลในการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์

กระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Ministry of Energy, Science, Technology, Environment & Climate Change: MESTECC) ของมาเลเซีย ประเมินว่าชีวมวลเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 800 ล้านตัน ในปี 2563 เพิ่มเป็น 1,340 ล้านตัน ในปี 2573

เชื้อเพลิงจากชีวมวลในมาเลเซียที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนใหญ่มาจากปาล์มน้ำมัน 86.18% ส่วนที่เหลือเป็นชีวมวลประเภทอื่น จากขยะชุมชนที่นำมาอัดเม็ด 5.01% ไม้และเศษไม้ 3.41% จากการเพาะปลูกข้าว 1.73% และจากส่วนอื่น ๆ อีก 3.67%

S7 7 3 01 e1639224016550

ชีวมวลมีบทบาทมากขึ้นตามนโยบายพลังงานทดแทนแห่งชาติและแผนปฏิบัติการของมาเลเซีย

ตามนโยบายพลังงานทดแทนแห่งชาติและแผนปฏิบัติการ (The National Renewable Energy Policy and Action Plan: NREPAP) นับเป็นนโยบายด้านพลังงานที่มีความก้าวหน้าล่าสุด โดยมุ่งไปที่พลังงานหมุนเวียน โดยเมื่อปี 2561 MESTECC ได้ตั้งเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนใหม่ ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 20% ในปี 2568

เป้าหมายพลังงานหมุนเวียนในแผน NREPAP เป็นเป้าหมายระยะยาวสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยคาดว่าพลังงานน้ำขนาดเล็กจะบรรลุกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดในปี 2571 และชีวมวลจะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างสูง ซึ่งจะทำให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์จะขยายตัวอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่หลังปี 2568 และเมื่อถึงปี 2593 พลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาพลังงานหมุนเวียน มีกำลังผลิตถึง 18,700 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นชีวมวล 1,340 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย กระจายอยู่ในหลายรัฐ

ชีวมวลสามารถแปลงเป็นรูปแบบต่าง ๆ ด้วยกระบวนการหลากหลาย ทั้งเพื่อการผลิตไฟฟ้า การให้ความร้อน และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ แต่ที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีกระจายอยู่ในหลายรัฐ

โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย ที่รัฐซาบาห์ มีโรงไฟฟ้า Seguntor Bioenergy และ Kina Biopower ที่นำทะลายปาล์มเปล่าซึ่งเหลือจากการบีบเอาน้ำมันปาล์มออกไปแล้ว ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน เทคโนโลยีในกระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบคือเชื้อเพลิงในรูปของการหั่น การสับ และทำให้แห้ง ก่อนถูกส่งไปเผา จากนั้นนำความร้อนที่ได้ไปผลิตไอน้ำสำหรับขับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 92,681 เมกะวัตต์ชั่วโมง ป้อนให้แก่การไฟฟ้ารัฐซาบาห์ และใช้ภายในโรงไฟฟ้าเอง

เมืองซันดากัน รัฐซาบาห์ ยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 12 เมกะวัตต์ของบริษัท Cash Horse (M) Sdn Bhd ที่ใช้ทะลายปาล์มเปล่าเป็นเชื้อเพลิงหลัก ส่วนกะลาปาล์มกับใยปาล์มเป็นเชื้อเพลิงรอง สำหรับผลิตไฟฟ้าป้อนให้แก่การไฟฟ้ารัฐซาบาห์ ที่รับซื้อไฟในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ในอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ หรือ 16 ปี ในอัตรา 2.60 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2557-2573

กากปาล์มซึ่งได้จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบออกจากผลปาล์มสด ยังถูกนำไปใช้ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 12.1 เมกะวัตต์ ในเมืองมูกาห์ รัฐซาราวัก ที่นำกากปาล์มไปเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จึงมีกากปาล์มเหลือเป็นปริมาณมาก โดยโรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเตาแก๊สซิไฟเออร์ชนิดฟลูอิดไดซ์เบด แบบไหลวน (Circulating Fluidised Bed) ในกระบวนการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งให้อยู่ในรูปเชื้อเพลิงก๊าซเหลว โดยสามารถรองรับชีวมวลปริมาณมาก ๆ ได้ดี

นอกจากนั้น ยังมีโรงไฟฟ้าที่นำน้ำทิ้งจากการผลิตปาล์มน้ำมัน ไปหมักจนเกิดก๊าซชีวภาพ ที่มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซมีเทนใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สำหรับผลิตไฟฟ้า

ส่วนรัฐปะลิสได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน เพื่อนำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นก๊าซเชื้อเพลิง แล้วขายไฟให้แก่การไฟฟ้า เพื่อนำไปป้อนบ้านเรือน 30,000 หลัง

การพัฒนา โรงไฟฟ้าชีวมวลในมาเลเซีย กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา อาจไม่ให้ความสำคัญมากนักเนื่องจากมาเลเซียมีแหล่งพลังงานจากฟอสซิล แต่การเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เชื้อเพลิงจากชีวมวลมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight