Environmental Sustainability

‘วราวุธ’ เร่งจัดการขยะพลาสติก รุกกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟ ขับเคลื่อน ‘ร้านกาแฟสีเขียว’

“วราวุธ” เร่งจัดการขยะพลาสติก ผลักดัน “ธุรกิจร้านกาแฟ” สู่การเป็น “ร้านกาแฟสีเขียว” เดินหน้าปรับรูปแบบให้บริการ และการบริโภค เป็นแบบวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

วันนี้ (27 ม.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไลฟ์สด กิจกรรม  “Green Coffee Shop By Top Varawut ” ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” โดยระบุว่าแต่ละปี คนไทยสร้างขยะพลาสติก ประมาณ 2 ล้านตัน เป็นแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถึง 9,750 ล้านใบ และหลอดพลาสติกอีก 5 พันล้านหลอด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภค และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟ และตลาดกาแฟ ในประเทศไทย

S 62636040

ประกอบกับ แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก เป็นพลาสติกเป้าหมาย 2 ใน 4 ชนิด ที่จะเลิกใช้ภายในปี 2565 จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ และการบริโภค เป็นแบบวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่ผ่านมา ในภาคส่วนการผลิต และการให้บริการ ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มแพลตฟอร์มผู้ให้บริการส่งอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งกลุ่มธุรกิจ ร้านกาแฟเป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยลดการใช้พลาสติก และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายวราวุธ ยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟ และผู้บริโภคทั่วประเทศ  ร่วมปรับเปลี่ยน “วิถีชีวิตใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ขับเคลื่อนร้านกาแฟ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Coffee Shop)

แนวทางการขับเคลื่อนร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นการผนึกพลังร่วมกัน 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย

S 62636051

ภาครัฐ นำโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

  • สร้างกระแสความตื่นตัวให้เกิดขึ้นในสังคมในเรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในร้านกาแฟ รวมถึงการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  • สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คัดแยกขยะและนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  • ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการภาคธุรกิจผู้ผลิต และให้บริการร้านกาแฟ ในการลดปริมาณขยะต้นทาง และการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค เพื่อนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

S 62636053

ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการร้านกาแฟในประเทศไทย

  • ส่งเสริมให้มีการผลิต การบริการ และการบริโภคภายในร้านกาแฟ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
  • ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของลูกค้า หรือผู้บริโภคในการลดปริมาณขยะพลาสติก แบบใช้ครั้งเดียว หรือการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง
  • ส่งเสริมให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • สนับสนุนให้มีการนำทรัพยากรกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • จัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างการรับรู้ให้กับลูกค้า ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตระหนัก ร่วมเป็น ส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคืนประโยชน์กลับสู่สังคมโดยส่วนรวม เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภควิถีใหม่ ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
  • ลดปริมาณขยะ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วย “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อก้าวสู่การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

S 132743206

นายวราวุธ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการร้านกาแฟ และคอกาแฟทั่วประเทศมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน ร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทาง คัดแยกขยะ และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ จะมีการประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังความร่วมมือกันอย่างจริงจัง และเข้มข้น ในเดือนหน้า ตลอดจน มีแผนการดำเนินงาน ขยายความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไปยังหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2564 นี้ อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านกาแฟทั่วประเทศที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2278 8453 หรือ E-Mail : [email protected]

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo