Environmental Sustainability

‘ดร.ธรณ์’ ชี้ผลกระทบแพลงก์ตอนบลูม ปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน กระทบคนริมทะเล

“ดร.ธรณ์” เผยภาพปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน ผลกระทบจากแพลงก์ตอนบลูม ชี้หว่านเม็ดเงินไปเท่าไร ถ้าทะเลใกล้ตายก็ไร้ผล

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เรื่อง บางแสน ผลกระทบจากแพลงก์ตอนบลูม ทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่า โดยระบุว่า

ปลาตายเกลื่อนหาด

และแล้วปลาก็ตายเกลื่อนหาด 

เพื่อนธรณ์คิดว่าปลาตายเหล่านี้มีมูลค่าเท่าไหร่ ?

ปลาที่ควรเป็นอาหารมื้อเช้าค่ำของชาวประมงพื้นบ้าน ของคนริมทะเลแถวนั้น

นำไปขายเป็นค่าเทอมค่าไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ค่าโน่นนี่อีกมากมาย

ปลาที่มีความหมาย กลับกลายเป็นเพียงปลาเน่า หาประโยชน์ใด ๆ มิได้

ยังส่งกลิ่นตลบอบอวล คนเดินผ่านล้วนอุดจมูก ลบภาพหาดทรายในฝันของทุกคนไปทันที

ปลาน่าจะตายเพราะปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวปี๋จากบางแสนถึงศรีราชา ตามที่คณะประมงสำรวจไว้เมื่อ 2-3 วันก่อน รุนแรงจนออกซิเจนในน้ำเหลือไม่พอให้ปลาหายใจ

ทะเล

แพลงก์ตอนบลูมจะหมดไปเมื่อเข้าหน้าหนาว ทว่า…มันจะกลับมาใหม่ในหน้าฝนปีหน้า และอาจมากขึ้นถี่ขึ้น

มันเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ทางออกจึงไม่ง่าย แต่เรายังพอทำอะไรได้บ้าง

1. เร่งสนับสนุนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางเตือนภัย/แก้ไขระยะสั้นกลางยาว จำแนกผลกระทบที่ซับซ้อนในพื้นที่

2. ยกระดับประเด็นปัญหา ตั้งคณะอะไรสักอย่างมารับมือผลักดันโดยอิงกับหลักวิชาการ เพราะความรุนแรงไม่เหมือนก่อน มันเกินกว่ากลไกปรกติจะทำงานไหว

3. ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ช่วยผลักดันและสนับสนุนนโยบาย/งบประมาณ เพราะความเดือดร้อนมันจริงจังและรุนแรง

ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อข้าวปลาอาหาร ต่อรายได้จุนเจือครอบครัว มันเยอะกว่าเงินที่ใช้ลงทุนมหาศาล

ทะเลคือแหล่งกระจายรายได้ดีที่สุด สร้างอาชีพสร้างงาน
ขอเพียงรักษาทะเลที่สมบูรณ์ไว้ คนริมทะเลก็ยังหาเช้ากินค่ำต่อไปได้
แต่หากทะเลกลายเป็นเช่นนี้ จะหาเช้าหาค่ำก็คงไม่พอกิน และหนี้สินก็จะตามมา
ธรรมชาติที่ดีคือ เศรษฐกิจที่ดี

ธรรมชาติที่ดีคือ ทุกคนที่อยู่รอบๆ มีความสุข มีอาชีพมีรายได้เพียงพอ

แต่ถ้าทะเลกำลังตาย จะกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเท่าไหร่ สุดท้ายจานข้าวก็ว่างเปล่าครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo