Environmental Sustainability

‘ทะเลมัทฉะ’ วิบากกรรมน้ำเขียวแห่ง ‘EEC’ ความยั่งยืนทะเลไทย ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

“ดร.ธรณ์” เปิดภาพสำรวจหาคราบน้ำมัน ทะเลศรีราชา พบน้ำทะเลสีเขียวจากแพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาล วิบากกรรมทะเลไทย ที่ความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นจริง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เรื่อง ทะเลมัทฉะ วิบากกรรมน้ำเขียวแห่ง EEC โดยระบุว่า

ทะเลไทย

EEC คือพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก บริเวณที่ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปมหาศาล เพื่อกิจการสู่อนาคต

EEC แม้มีพื้นที่หลายจังหวัด แต่ศูนย์กลางมี 2 แห่งคือชายฝั่งบางแสน/ศรีราชา/พัทยา และมาบตาพุด ระยอง

ทั้ง 2 แห่งแตกต่างกันในด้านภูมิศาสตร์ ชายฝั่งชลบุรีอยู่ในอ่าวไทยตอนใน ระยองอยู่ชายฝั่งภาคตะวันออก

อ่าวไทยตอนในหรืออ่าวตัว ตามที่เรียกกัน เป็นอ่าวเกือบปิด สามด้านติดแผ่นดิน มีทางออกเพียงทิศใต้ที่เชื่อมกับทะเลนอก

แผ่นดินที่รายล้อมมีแม่น้ำ 4 สายหลักของไทย บางปะกง-เจ้าพระยา-ท่าจีน-แม่กลอง เรียงลำดับจากตะวันออกสู่ตะวันตก

น้ำต่าง ๆ จากชุมชนและพื้นที่เกษตรไหลลงสู่อ่าวแห่งนี้

ศรีราชา/แหลมฉบังยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางทะเล มีอุตสาหกรรมมากมาย บางแสน/พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเมกะ ผู้คนมาเยือนมหาศาล

ดร.ธรณ์ 1
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

น้ำจากเมืองและแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ไหลลงทะเล

ทะเลที่ปิดล้อมด้วยแผ่นดิน 3 ด้าน อ่าวเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่รวมกันแค่ 7,500+ ตร.กม.

เล็กมาก เมื่อเทียบกับทะเลไทย 320,000+ ตร.กม. แต่เม็ดเงินที่เกิดจากเศรษฐกิจสีน้ำเงินในอ่าวนี้ อาจเกินครึ่งของทะเลไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเป็นเขตที่มีผู้คนอยู่อาศัยมากที่สุด ทุกอย่างปะปนกัน เมือง/อุตสาหกรรม/โลจิสติกส์/ท่องเที่ยว

แต่อย่าลืมคนที่เคยอยู่มาก่อน ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เจ้าของแพ/กระชังมากมายริมชายฝั่ง

แพน้อย ๆ ที่เป็นแหล่งหารายได้เลี้ยงครอบครัว อยู่ห่างจากเรือหลายหมื่นตันที่วิ่งผ่านไปมาเพียงนิดเดียว

เมื่อทะเล EEC มีทุกอย่างสุมรวมกัน กอปรกับเทรนด์โลกเน้นความเขียว จึงไม่น่าแปลกที่คำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรากฏอยู่ในแทบทุกแห่งทุกโครงการในพื้นที่

ทว่า…ผลลัพท์เป็นอย่างไร ?

ผลลัพธ์เป็นตามภาพที่เพื่อนธรณ์เห็น เป็นภาพที่ทีมคณะประมงเพิ่งถ่ายเมื่อวาน ระหว่างเราสำรวจหาคราบน้ำมันที่หลุดรั่วลงมาในทะเล

สีเขียวปี๋ดุจชาจากญี่ปุ่น ดูแล้วสวยดี แต่ในนั้นคือแพลงก์ตอนพืชนับล้านล้านล้าน ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะเหตุต่าง ๆ ที่ผมเล่าไปแล้วข้างต้น

2 4

เราดูแลทะเลได้ดีพอหรือยัง ? ช่างมันเถอะตัวเลขในห้องประชุมหรือแคมเปญต่าง ๆ  เพราะผู้ตอบที่แท้จริงคือทะเล

ทะเลตอบมาด้วยน้ำสีเขียวปี๋ สมดุลที่เปลี่ยนไป ความยั่งยืนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ข้อมูลจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. ทำร่วมกับสถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา บ่งบอกว่าน้ำเหล่านี้มีความตายแอบซ่อนอยู่

แพลงก์ตอนชนิดนี้ไม่เป็นพิษ ไม่สะสมในสัตว์น้ำ ทุกคนยังกินอาหารทะเลต่อไปได้ หากว่ามีเหลือให้กิน

เพราะไม่มีพิษแต่มีความตาย เนื่องจากปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว

การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังจากสถานีเก็บน้ำประจำจุดต่างๆ ในทะเลศรีราชา บ่งบอกว่าน้ำแบ่งเป็นชั้น

ชั้นน้ำล่าง ๆ มีออกซิเจนต่ำมาก (ต่ำกว่า 2 mg/l) ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

3 3

หากดูในภาพกราฟฟิก จะเป็นแถบสีน้ำเงิน

ที่สำคัญคือ การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นผลงานของนิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง

น้อง ๆ ที่เป็นห่วงทะเล อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อยากรู้ว่าเธอช่วยอะไรได้บ้าง ?

ช่วยทำให้ ความยั่งยืน ที่ผู้ใหญ่พูดถึงบ่อยๆ จัดงานกันถี่ ๆ เป็นความจริงสักนิด

ด้วยภาพที่ผมเห็นมาเมื่อวาน ด้วยงานของน้องที่ส่งมาให้ผมดู ผมจึงเขียนเรื่องนี้

เขียนเพื่อแจ้งให้เพื่อนธรณ์ทราบว่า ความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นจริง

เขียนเพื่อบอกว่า แต่เรายังมีหวัง เพราะเด็ก ๆ ของเรายังสู้

สมดุลที่พังทลาย อาจหวนคืนมาทีละนิดละน้อย หากผู้ใหญ่หันไปมองงานของเด็ก ๆ บ้าง
รับฟังงานของเด็ก ๆ เพื่อให้รู้ว่า บางทีถ้อยคำที่พูดกันว่ายั่งยืน ๆ มันเป็นเพียงวิปครีมที่ปิดบังหน้ามัทฉะแห่งความตาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo