โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” โดยแนวคิดสำหรับปีนี้ ที่ครบรอบ 50 ปีของการกำหนดวันนี้ขึ้นมา คือ “การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก”
จากการที่วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อให้เกิดความร่วมมือ รู้ทันสถานการณ์ในเรื่องนี้ จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 โดยมีรัฐบาลของประเทศสวีเดนเป็นประธานในการประชุมในครั้งนั้น ที่มีชื่อเรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (UN Conference on the Human Environment)
มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1300 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ สหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่
ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” หรือ ยูเอ็นอีพ (United Nations Environment Programme: UNEP) ขึ้นมา โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี เคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน
เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2516 ยูเอ็นอีพี จึงกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) และในแต่ละปี จะมีการกำหนดวาระด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลกผ่านเว็บไซต์ของทางการเป็นประจำทุกปี
กิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อมโลก มักจะจัดงานรณรงค์ และจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม รวมถึงปัญหาของสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนหันมารักษาสิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าของการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้ รณรงค์แยกขยะให้ถูกประเภท ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือปิดไฟดวงที่ไม่ใช้พร้อมกับทั่วประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับปีนี้ ยูเอ็นอีพี ได้ชูแนวคิด “การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก” ภายใต้แคมเปญ #BeatPlasticPollution หรือ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาใหญ่ “ขยะพลาสติก” ที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี ถ้ามองให้เห็นภาพ ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 1 กิโลกรัม จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 8.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบได้กับขนาดลูกบอล 1 ลูก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร
ในไทยนั้น ได้มีการประกาศแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) แบ่งเป็น 4 เป้าหมาย
- เป้าหมายที่ 1 ลดพลาสติกเป้าหมาย ที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบลดลง 100% ภายในปี 2570
- เป้าหมายที่ 2 เพิ่มพลาสติกเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ภายในปี พ.ศ.2570
- เป้าหมายที่ 3 ลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% ภายในปี พ.ศ.2570
- เป้าหมายที่ 4 มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ
โดยมีพลาสติกเป้าหมายอยู่ 5 ประเภท
- ขวดพลาสติก
- ฝาขวด
- บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว
- ถ้วย/แก้วพลาสติก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 5 มิ.ย. วันสิ่งแวดล้อมโลก CPF ปลุกพลังพนักงานรักษ์โลก ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
- มช. เผยผลศึกษา ‘ถนนพลาสติกรีไซเคิล’ 1 กม. ใช้ขยะ 300-600 กก. ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชวนร่วมคุ้มครองโลก เพื่อให้โลกคุ้มครองเรา