Environmental Sustainability

สส. เดินหน้าเสริมความรู้ ‘การจัดการขยะ’ ด้วยหลัก ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม BCG โมเดล

สส. เดินหน้าเสริมความรู้ “การจัดการขยะ” โดยใช้หลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดล BCG

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดฝึกอบรมหลักสูตร Circular Economy การจัดการขยะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดล BCG ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ Zoom meeting

มุ่งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการจัดการขยะโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดล BCG รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สส.

พัฒนาประเทศด้วย BCG โมเดล

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของมนุษย์

รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” โดยพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มาใช้กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

สส.

โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบที่ส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์ที่ถูกทิ้ง มาเข้ากระบวนการผลิตซ้ำ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Recycle) ให้ความสำคัญกับ แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero waste) ส่งเสริมการออกแบบใหม่ (Redesign) การลดของเสีย (Reduce) และการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมดุลในระบบการผลิตด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลิตของเสียให้น้อยที่สุด รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

สส.

แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นใช้วัตถุดิบและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นใช้วัตถุดิบและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยสามารถยืดอายุการใช้งาน นำมาใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาเข้ากระบวนการผลิต เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นเศรษฐกิจที่ทำของเสียให้มีค่ามากกว่าขยะ

เพราะเมื่อบริโภคเสร็จสิ้น ของเสียสามารถวนกลับเข้ามาในวงจรถึงมือผู้บริโภคได้อีก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งต้นทุนในการจัดหาทรัพยากรที่โลกของเรามีอยู่อย่างจำกัดเริ่มลดน้อยลงไป

สส.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตร Circular Economy การจัดการขยะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดล BCG

โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 365 คน ประกอบไปด้วย  ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ

ซึ่งภายในงานมีการบรรยายหัวข้อ “โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับการจัดการขยะ” และการอภิปรายหัวข้อ “Circular Economy การจัดการขยะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ ความเข้าใจการจัดการขยะโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้กับครัวเรือนตนเอง ชุมชน และหน่วยงานของตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้อื่นต่อไป

1104471

1104476

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo