Telecommunications

‘กสทช.’ เปิดประมูลคลื่นวิทยุ 71 คลื่น คาดกวาดรายได้กว่า 500 ล้านบาท

กสทช. เปิดประมูลคลื่นวิทยุในระบบเอฟเอ็ม จำนวน 71 คลื่นความถี่ ครั้งแรกของประเทศไทย แบ่งประมูล 4 รอบ ภาคอีสานเปิดให้ประมูลมากสุด 21 คลื่นความถี่ 

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ก.พ.) สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

ประมูลคลื่นวิทยุ

การประมูลคลื่นวิทยุในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง ไปสู่ระบบการอนุญาต มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่

ประมูลคลื่นวิทยุ 71 คลื่นทั่วประเทศ 

  • เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่
  • ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่
  • ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่
  • ภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่

สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในครั้งนี้ ได้มีการคำนวณโดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นการประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท

ส่วนพื้นที่ให้บริการในเขตภูมิภาคราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท โดยการเสนอราคาแต่ละคลื่นจะแปรผันไปตามมูลค่าคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โดยการเสนอราคาต่อครั้งสูงสุดคือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท

เบื้องต้นคาดว่าการประมูลครั้งนี้ จะสร้างรายได้จากการประมูลโดยประมาณไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ประมูลคลื่นวิทยุ

การประมูลแบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที

รอบที่ 1 ประมูลเวลา 09.30-10.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่

รอบที่ 2 ประมูลเวลา 11.30-12.30 น. จำนวน 22 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 คลื่นความถี่ และภาคใต้ 12 คลื่นความถี่

รอบที่ 3 ประมูลเวลา 13.30-14.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คลื่นความถี่ และภาคเหนือ 6 คลื่นความถี่

รอบที่ 4 ประมูลเวลา 15.30-16.30 น. จำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่ และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่

หลังการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูล และสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล

โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่

ประมูลคลื่นวิทยุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo