Telecommunications

ไขข้อข้องใจ ‘คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า’ เสาสัญญาณมือถือ กรมวิทย์เปิดผลสำรวจชัด

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เสาสัญญาณมือถือ ปลอดภัยแค่ไหน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดผลสำรวจ ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า 2,217 สถานีฐาน

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม การติดตั้งสถานีฐานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือ พบว่า ในปี 2560 มีสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ จำนวน 115,684 สถานี และในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 170,577 สถานี เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชน กังวลถึงความปลอดภัย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เสาสัญญาณมือถือ

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ทั้งนี้ มีประชาชนสอบถามมาที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ ที่มีจำนวนเพิ่มขี้นอย่างมาก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่

ที่ผ่านมาหน่วยงานขององค์การอนามัยโลก ที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อการวิจัยมะเร็ง หรือ International Agency for Research on Cancer : IARC ได้จัดให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า อยู่ในตัวกระทำที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง กลุ่ม 2B เป็นกลุ่มเดียวกับพวก ผักดอง น้ำมันเบนซิน และไอระเหยของน้ำมันเบนซินที่มีผลอาจเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรงมะเร็ง จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัย ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ จากการใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ยังไม่พบหลักฐาน ที่เพียงพอจะสรุปได้ว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือมีผลร้ายหรืออันตรายต่อสุขภาพ

นพ.ศุภกิจ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ต่อมา ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 องค์การอนามัยโลก ได้ออกมายืนยันว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ ปลอดภัยต่อประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความกังวลถึงความปลอดภัย จากการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ของประเทศ มีภารกิจในการประเมินความเสี่ยงจากภัยสุขภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยผลทางห้องปฏิบัติการ ในปีงบประมาณ 2562-2563 ได้สำรวจ ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ เพื่อวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และตรวจสอบว่า เกินกว่าค่าที่มาตรฐานสากลกำหนดหรือไม่ (International Commission on Non-ionizing Radiation Protection : ICNIRP)

สำหรับค่ามาตรฐานสากล ได้กำหนด คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ที่ 950 MHz มีค่าไม่เกิน 4.5 W/m2 ความถี่ 1800 MHz มีค่าไม่เกิน 9 W/m2 และความถี่ 2100 MHz มีค่าไม่เกิน 10 W/m2

เสา

จากผลสำรวจ วัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ ในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต อำเภอเมืองในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด และอำเภอเมืองในจังหวัดภาคกลาง 16 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 2,217 สถานี โดยตรวจวัดในช่วงความถี่ 950-2100 MHz พบว่า ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่วัดได้ อยู่ในช่วงระหว่าง 0.000255 – 0.01776 (W/m2)

“ค่าที่วัดได้นี้ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 500-1,000 เท่า จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอันตราย แก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง กับสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ”นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผลสำรวจวัด ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า สถานีจากฐานระบบโทรศัพท์มือถือ จะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ มีแผนงานจะเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง และคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีฐานระบบโทรศัพท์มือถือ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ในปีงบประมาณ 2565 จะดำเนินการขยายการตรวจวัด ค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังภัยสุขภาพ และสื่อสารให้ประชาชนได้ทราบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo