“วิสัย เอไอ” บริษัทร่วมทุนแห่งแรกในเครือ VISTEC เดินหน้าพัฒนา AI-enabled Solutions สร้างเอไอที่เข้าถึงได้ทุกคน สนับสนุนไทยขึ้นแท่นผู้นำเทคโนโลยีเอไอ
หลังจากก่อตั้ง “บริษัท วิสัย เอไอ” หรือ VISAI ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการที่ครบวงจร สำหรับการศึกษา ทดลอง วิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
ล่าสุด “ดีป้า” ได้ร่วมกับ “VISTEC” เปิดตัว “VISAI” อย่างเป็นทางการ พร้อมลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กับ “วิสัย เอไอ” เพื่อเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเอไอขั้นสูงของประเทศ
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ประธานในพิธี กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ว่า VISTEC ก่อตั้งโดย กลุ่ม ปตท. และพันธมิตร โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ สำหรับนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง และการวิจัยระดับแนวหน้า
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา VISTEC ได้ก่อตั้งบริษัท VISAI ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ดีป้า ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีเอไอ สำหรับทุกคน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

VISTEC จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผู้ประกอบการ นักวิจัย โดยมี VISAI เป็นบริษัทลูกแห่งแรก เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการนำเอไอมาใช้
ดร. ไพรินทร์ กล่าวด้วยว่าทุกวันนี้ ในชีวิตของเราเต็มไปด้วยข้อมูลดาต้า เปรียบเสมือน “กองฟางใหญ่” มีอยู่ทั่วไป ทำอย่างไรเราจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หาเพชรเม็ดล้ำค่าอยู่ในกองฟางขึ้นมาให้ได้
ความสามารถในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะหาเพชรในกองฟางจะต้องเป็นความสามารถที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรธุรกิจที่มีทรัพยากร แต่ทุกคน ทุกหน่วยงาน เกษตรกร SME จะต้องมีความสามารถในการนำปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ไปค้นหามาพัฒนาออกมาเป็นองค์ความรู้ ที่ช่วยผลักดันธุรกิจไปข้างหน้าให้ได้ เพราะนั่นเป็นปณิธานอันสูงสุด ของทางบริษัท VISUP ของ VISTEC ที่ได้ตั้ง “วิสัย เอไอ” หรือ VISAI ขึ้นมา โดยความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เกิดจากการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

ที่ผ่านมา ดีป้า ได้ร่วมมือกับ VISTEC จัดตั้ง สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักในการเป็นศูนย์กลาง การให้บริการที่ครบวงจรสำหรับการศึกษา ทดลอง วิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
พร้อมกันนี้ ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาและวิจัยชุดข้อมูล เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมดิจิทัล
จากความต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอในภาคธุรกิจของประเทศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ ดีป้า และ VISTEC เปิดตัว“VISAI” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการดิจิทัลโซลูชันด้านการเชื่อมโยงเอไอ (AI-enabled) ในรูปแบบของแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกัน ยังวางเป้าหมายส่งเสริมการเรียนรู้ของเครื่อง Machine Learning ที่ล้ำสมัย พร้อมให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอขั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับพันธมิตร เตรียมความพร้อมสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีเอไอ ก่อนก้าวสู่ตลาดสากล
ขณะที่ รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ CEO บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า VISAI เล็งเห็นโอกาสในการประยุกต์ใช้ Mega-tech Trend โดยตั้งใจที่จะพัฒนาและนำเสนอ AI-enabled Solutions ที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ตามแนวคิด AI for Everyone
ทั้งนี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติ Data-centric AI ที่มีการพัฒนาให้ใกล้เคียงซอฟต์แวร์บริการนั้น มีส่วนช่วยลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอขั้นสูง แก่ผู้ที่ต้องการประยุกต์ใช้เอไอในการพัฒนาธุรกิจได้
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้โมเดลที่ทาง VISAI พัฒนาไว้พร้อมใช้งาน (Off-the-shelf Model) จึงช่วยลดต้นทุนด้านเวลา รวมถึงต้นทุนด้านบุคคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดข้อจำกัดด้านการใช้งาน และทำให้การเข้าถึงเอไอเกิดขึ้นในวงกว้าง
สำหรับ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จัดตั้งขึ้นในปี 2558 ภายใต้โครงการ จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนวิทยาศาสตร์ กลุ่ม ปตท. พื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบใหม่ และก้าวขึ้นสู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลก
ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้กับเยาวชนระดับหัวกะทิ และสร้างโอกาสให้เกิดสายอาชีพนักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์ในประเทศ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอีกด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กลุ่ม ปตท. นำกำไรปี 64 ส่งรัฐกว่า 8 หมื่นล้าน-เดินหน้ากิจการเพื่อสังคมทุกมิติต่อเนื่อง
- ปตท. จับมือ สวทช. เดินหน้านวัตกรรมสุขภาพ-การแพทย์ เพิ่มโอกาสเข้าถึงเครื่องมือแพทย์
- โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. พร้อมรับมือ ‘โอไมครอน’ สร้างความมั่นใจประชาชน