Technology

จับตา ‘แกร็บกลืนอูเบอร์’ ฝันร้ายผู้โดยสารจริงหรือ

Grab

เป็นดีลที่ทุกฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดสำหรับการควบกิจการของอูเบอร์ (Uber) โดยบริษัทคู่แข่งอย่างแกร็บ (Grab) ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้แบรนด์ร่วมเดินทางอย่างอูเบอร์ต้องยุติบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในเวลาสองสัปดาห์ 

โดยผลกระทบจากการควบกิจการครั้งนี้ได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้วในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวพนักงานของอูเบอร์เองที่มีรายงานข่าวว่า ในหลาย ๆ ประเทศ พนักงานอูเบอร์อยู่ในภาวะเคว้งคว้าง และยังไม่รู้อนาคตของตนเอง หรือในเรื่องของผู้ใช้บริการ ที่เริ่มได้รับอีเมลจากอูเบอร์เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนสิทธิ์ให้แก่บริษัท แกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ (GHI)  ซึ่งจะรวมถึงการติดต่อสื่อสาร การแจ้งเตือน และการชำระเงินทั้งหมดในอนาคตที่เกี่ยวกับข้อตกลงนี้ด้วย

ขณะที่ในประเทศไทย นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า การควบกิจการและสินทรัพย์ของอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนของอูเบอร์ในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับข้อเสนอให้ร่วมงานกับแกร็บ โดยแกร็บระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีที่พนักงานอูเบอร์ในหลาย ๆ ประเทศถูกสั่งให้เก็บของและออกจากออฟฟิศภายในวันที่ 26 มีนาคมแต่อย่างใด และขอให้สอบถามจากทางอูเบอร์โดยตรง 

Tarin Taniyavarn 5
นายธรินทร์ ธนียวัน

โดยปัจจุบันแกร็บให้บริการใน 195 เมือง 8 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม พม่าและกัมพูชา ขณะที่อูเบอร์ให้บริการทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม (โดยในขณะนี้หากเข้าไปเสิร์ชหาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนเว็บไซต์อูเบอร์จะไม่พบรายชื่อประเทศเหล่านี้แล้ว)

สำหรับอูเบอร์เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกปี 2557 และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีกำไรแต่อย่างใด แม้จะมีบริการต่าง ๆ มากมายเช่น อูเบอร์อีทส์ (uberEATS), อูเบอร์โมโต (uberMOTO), อูเบอร์แฟลช (uberFLASH) อูเบอร์แอสซิส (uberASSIST) อูเบอร์แท็กซี่ (uberTAXI) และอูเบอร์เฮลท์ (uberHEALTH)

อย่างไรก็ดี ตลาดในปัจจุบัน จากที่เคยมีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อให้ตลาดบริการร่วมเดินทาง (Ride-sharing) ได้เกิดการแข่งขัน มาวันนี้เมื่อทั้งสองบริษัทได้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว คำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลายฝ่ายจึงหนีไม่พ้นกรณีของการผูกขาด ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนกับดีลระหว่างอูเบอร์และแกร็บที่เกิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรามีอีกหนึ่งกรณีศึกษาน่าสนใจ จากการควบกิจการของอูเบอร์ และตีตี้ ชูสิง (Didi Chuxing) ในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา 

โดยในครั้งนั้น ตีตี้ซื้อกิจการของอูเบอร์ แลกกับการให้อูเบอร์เข้าถือหุ้นในตีตี้ 17.7% อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น 1 ปีได้มีการทำแบบสอบถามโดยเว็บพอร์ทัลชื่อดังของจีนอย่าง Sina.com พบว่า 81.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามในจีนมองว่าการเรียกบริการร่วมเดินทางในจีนนั้น “ลำบากขึ้น” กว่าตอนที่ทั้งสองบริษัทยังไม่ควบกิจการกัน และ 86.6% เผยว่าค่าบริการนั้นแพงขึ้นด้วย

ขณะที่ข้อมูลจากตีตี้เองก็เผยให้เห็นว่า การเรียกรถในชั่วโมงเร่งด่วนตามหัวเมืองใหญ่ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้นนั้นยากขึ้น 12.4%, 17.7%, 13.2%, และ 22.5% ตามลำดับ

อีกทั้งยังพบว่า การตอบรับคำสั่งเรียกรถในจุดที่พลุกพล่าน เช่น ท่าอากาศยาน โรงพยาบาล โรงเรียนยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย (ท่าอากาศยานในกรุงปักกิ่งลดลง 15.6% หน้าโรงเรียนลดลง 12.5%) ขณะที่ในหัวเมืองชั้นรองนั้นตัวเลขดังกล่าวลดลงไปเฉลี่ย 30% ต่อปีเลยทีเดียว

สาเหตุตามการรายงานของ Quartz Media ก็คือ เมื่อเหลือเพียงรายเดียว ตีตี้ได้มีการหั่นโบนัสที่เคยใช้จูงใจคนขับ และลดส่วนลดที่เคยแจกให้ผู้โดยสารทิ้งไปนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องยอมรับว่าภาพเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้น และสถานการณ์ตอนนี้ยังฝุ่นตลบจนยากจะจับทิศทางได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตานอกจากฐานข้อมูลของอูเบอร์แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นอูเบอร์อีทส์ ที่ในปี 2560 พบว่า

  • ในปีแรกที่อูเบอร์อีทส์ เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ สามารถจัดส่งอาหารได้มากกว่า 1 ล้านจาน
  • พันธมิตรร้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 แห่ง จากช่วงเริ่มแรกที่มีแค่ 100 แห่ง
561000001908601
(แฟ้มภาพ) อูเบอร์อีทส์ฉลองครบรอบ 1 ปี

แน่นอนว่า ข้อมูลทั้งสองชิ้นนี้ สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมหาศาลสำหรับแกร็บฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริการจัดส่งอาหารเช่นเดียวกันกับอูเบอร์อีทส์ รวมถึงข้อมูลในแง่อื่น ๆ ของบริการร่วมเดินทางด้วย และเชื่อว่าในระยะแรกข้อมูลจากอูเบอร์ที่กำลังถูกโอนย้ายไปสู่แกร็บนั้นจะเป็นข้อมูลที่แกร็บพอใจ และสามารถทำให้แกร็บพัฒนาบริการต่าง ๆ ตามที่บริษัทตั้งเป้าเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ขยายแกร็บฟู้ดสู่สิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในประเทศอินโดนีเซียและไทย ทั้งนี้ แกร็บ มีแผนเปิดให้บริการแกร็บฟู้ดในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินงานอยู่ภายในกลางปีนี้ด้วย
  • ประกาศทดลองบริการใหม่อย่างแกร็บไซเคิล (GrabCycle) ซึ่งเป็นบริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และบริการแกร็บชัตเติ้ล พลัส (GrabShuttle Plus) ซึ่งเป็นบริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ ไปก่อนหน้านี้

นอกจากนั้นยังมีบริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงินด้วยแกร็บไฟแนนเชียล (Grab Financial) ทำให้ลูกค้าแกร็บสามารถชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินปกติได้ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการ Mobile Wallet ของแกร็บเพย์ ภายในปลายปีนี้เช่นกัน

 

 

Avatar photo