Technology

คาด”Digital Disruption”กระทบไทยในปี’73 แมคคินซี่หนุนไทยพัฒนาทักษะด้าน”Data” ด่วน

work 1000618 1280

เป็นระยะเวลาที่จะเรียกว่าสั้นก็ไม่สั้น จะยาวก็ไม่ยาว สำหรับการเตรียมความพร้อมให้ทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือมาถึงของยุค Digital Disruption โดยมีการคาดการณ์จาก เดอะ แมคคินซี่ โกลบอล อินสติติว (The McKinsey Global Institute หรือ MGI) ว่ายุคที่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทกับการทำงานของมนุษย์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2573 หรืออีก 12 ปีนับจากนี้ พร้อมกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกตอนนี้เกิดการตื่นตัวเรื่องการพัฒนาคนในทักษะใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับการทำงานในยุคดังกล่าวได้

โดยแมคคินซี่ได้ศึกษากิจกรรมต่างๆ กว่า 2,000 กิจกรรมที่คนใน 800 อาชีพทำอยู่ทั่วโลก พบว่าในทั่วโลกนั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาแทนกิจกรรมต่างๆ นี้ได้ประมาณ 50% ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ต้องทำซ้ำๆ และมีรูปแบบค่อนข้างตายตัว เช่น การเก็บและบันทึกข้อมูล เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ แล้ว พบว่าภายในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้จริงๆ ประมาณ 15% เท่านั้น เนื่องจากแต่ละประเทศต่างก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือจีน ซึ่งมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงจากการเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ ต้องรีบผลักดันเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้

สำหรับในประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งความพิเศษ เนื่องจากมีกิจกรรมการผลิตที่ใช้พนักงานจำนวนมาก ส่งผลให้ประเภทของงานที่เทคโนโลยีสามารถแทนได้ในเชิงเทคนิคในปัจจุบันมีประมาณ 55% ของกิจกรรมทั้งหมด

อย่างไรก็ดี แมคคินซี่คาดว่าในอีก 12 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนเพียงประมาณ 17% เท่านั้นหรือคิดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องถูก Reskill ประมาณ 6.9 ล้านตำแหน่ง เนื่องจากข้อดีเรื่องค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยที่ยังต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนแล้วจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั่นเอง

99 1
นางนพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล ประธานแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “จากการคาดการณ์ของ The McKinsey Global Institute (MGI) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยของแมคคินซี่ พบว่าภายในปี 2573 ประเทศไทยจะมีบุคลากรที่จำเป็นต้องเข้ารับการ Reskill เพื่อให้สามารถทำงานในโลกใหม่ได้ประมาณ 6.9 ล้านคน และโลกแห่งการทำงานในอนาคตนั้น จะมีบางอาชีพที่หายไปจริง ๆ เช่น งานในโรงงาน ซึ่งเป็นงานที่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทำแทนได้”

ส่วนงานที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคตในมุมมองของคุณนพมาศคือตำแหน่งงานเช่น

  • Data Scientist
  • Data Engineer
  • Developer
  • Digital Translator
  • Digital Designer
2 1
นางนพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล ประธานแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด

อย่างไรก็ดี ในมุมของแมคคินซี่ ต้องการนำงานวิจัยดังกล่าวมาชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาบุคลากรและแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ จากงานบางประเภทที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยระบุว่า ตอนนี้ตำแหน่งงานที่ขาดแคลนอย่างสูงในระดับโลกคือ Data Scientist ที่ขาดแคลนมากถึง 30 ล้านตำแหน่ง และการขาดแคลนบุคลากรด้าน Data นั้นมีผลให้การพัฒนาไปสู่ยุคแห่งการ Disruption ต้องล่าช้าออกไปนั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการขาดแคลนบุคลากรในด้านข้อมูลนี้ ก็คือเทรนด์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ออกมาเปิด Academy ของตนเองกันมากขึ้น โดยคุณนพมาศชี้ว่า นั่นคือสัญญาณของความ “ไม่ทันการณ์” ในการพัฒนาคน ทำให้องค์กรธุรกิจเลือกที่จะลงทุนสร้างคนจากพนักงานเดิมของตนเองขึ้นมาแทน

แต่ใช่ว่าการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป นายเกรเกอร์ ธีเสน ประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจดิจิทัล แมคคินซี่และแอดวานซ์ อะนาลิติกส์ ประจำภาคพื้นเอเชีย บริษัท แมคคินซี่ แอนด์คอมปานี กล่าวว่า “เทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ความต้องการแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนในด้านสังคม เทคโนโลยีก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าเทคโนโลยีที่ไหลบ่าเข้ามาจะทำให้คนตกงาน ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีจะสร้างงานประเภทใหม่ๆ มากขึ้น”

3 1
นายเกรเกอร์ ธีเสน ประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจดิจิทัล แมคคินซี่และแอดวานซ์ อะนาลิติกส์ ประจำภาคพื้นเอเชีย บริษัท แมคคินซี่ แอนด์คอมปานี

นางนพมาศ กล่าวเสริมว่า “การที่ในที่สุดแล้วคาดว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนงานจริงๆ น้อยกว่าชนิดของงานที่มีเทคโนโลยีทำแทนได้ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่มีส่วนในการตัดสินใจ ที่สำคัญคือ แม้เราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนได้ในบางส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่างานจะหายไป เพราะจริงๆ แล้ว เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆ ทำให้ตลาดต้องการพนักงานเพิ่มขึ้นในทุกประเภทเพียงแต่จะมากหรือน้อยต่างกันเท่านั้น เช่น งานด้านการก่อสร้างในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีค่าแรงแพง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือมาใช้ แต่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ยังคงมีการลงทุนและการพัฒนาสาธารณูปโภค อาคาร ที่อยู่อาศัย และธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ค่าแรงก็ไม่ได้สูงจนเกินไป การใช้คนทำงานเหล่านี้จึงยังเป็นทางเลือกหลัก”

สำหรับองค์กรที่ไม่มี Acedemy เป็นของตนเอง การสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาทักษะ รวมถึงมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง มีการปรับรูปแบบการศึกษาโดยส่งเสริมให้คนเรียนและทำงานไปควบคู่กันเพื่อให้มีประสบการณ์และเรียนรู้จากการทำงานจริง หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียน และการส่งเสริมให้ประชากรเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีตลอดเวลา ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ต่างกัน

Avatar photo